ทอท.ประกาศทุ่มงบ 1 แสนล้าน ลุยลงทุน 6 ท่าอากาศยาน
ทอท. เตรียมงบลงทุน 1 แสนล้านบาท พัฒนา 6 ท่าอากาศยาน พร้อมรองรับผู้โดยสารทะลุ 200 ล้านคนต่อปี นำร่องต้นปีหน้าประมูลสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 7.8 พันล้านบาท พร้อมติดเครื่องแผนท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ลงทุนกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน โดยระบุว่า จากการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินผ่าน 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ประกอบกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าผู้โดยสารในช่วงปี 2566 - 2567 จะกลับมาเทียบเท่าก่อนเปิดสถานการณ์โควิด-19 และไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางที่มีปริมาณการเดินทางเพิ่มต่อเนื่อง โดยในปี 2570 - 2572 คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 200 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ทอท.ได้เตรียความพร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งในช่วง 4- 5 ปีนี้ หรือระหว่างปี2566 - 2570 ได้วางแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
รวมไปถึงแผนพัฒนาอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 36,829 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต รวมวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท
“ทอท.เราจะใช้ช่วงเวลาของการฟื้นตัวจากการเดินทาง ด้วยแผนลงทุนเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานทั้งหมด ใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบประมาณจากรายได้ของ ทอท.ทั้งหมด เป็นการทยอยลงทุน และเราเชื่อมั่นว่ามีความพร้อม ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ โดยจะทยอยเปิดประมูลตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ในโครงการขยายอาคารด้านทิศตะวันตก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า นอกจากแผนลงทุนในอนาคตแล้ว ปัจจุบัน ทอท.ยังเตรียมทดลองเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคนต่อปี ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 60 ล้านคนต่อปี โดยอาคาร SAT-1 มีพื้นที่กว้างขวางถึง216,000 ตารางเมตร และจะมีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด
อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทอท.ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาให้บริการ ได้แก่ เครื่อง CUSS (Common Use Self Service) สำหรับผู้โดยสารสามารถเช็กอินด้วยตนเอง และเครื่อง CUBD (Common Use Bag Drop) สำหรับให้ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระได้เอง รวมไปถึงระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ(Automatic Return Tray System: ARTS) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งในการรอต่อคิว ณ เคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร และบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการบริการต่างๆ ของสนามบินไปไว้บนแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา
ด้านการแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. มีแผนจะติดตั้งเครื่อง Auto Channel เพื่อให้บริการผู้โดยสารขาออก ซึ่งสามารถรองรับ e-Passport ได้ 90 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ผู้โดยสารขาเข้านอกจากผู้โดยสารชาวไทยแล้ว ประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือในด้านการผ่านเข้าประเทศกับประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ทำให้ผู้โดยสารของประเทศเหล่านี้สามารถใช้บริการ Auto Channel ได้ ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มนำร่องให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจะทยอยติดตั้งและให้บริการได้ในปี 2567
สำหรับการแก้ไขปัญหากระเป๋าสัมภาระล่าช้าเนื่องจากผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นไม่เพียงพอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 3 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ.2562 คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนประมูลได้ในเดือน ต.ค.นี้
นายกีรติ ยังกล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ 2566 ด้วยว่า ตามที่ ทอท.ได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี2566 ไว้ว่าจะกลับมาที่ประมาณ 95 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านคนต่อปีในปี 2567 หรือเทียบเท่ากับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของทอท.ในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 2565 – 31 พ.ค. 2566) มีผู้โดยสารใช้บริการทั้งสิ้น 66.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 170.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
โดยปริมาณดังกล่าว แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 34.31 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 635.7 และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.3 ขณะที่มีเที่ยวบิน 422,900 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 79 แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 202,700 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 175.2 และเที่ยวบินภายในประเทศ 220,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงของเดือน พ.ค. 2566 เปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันกับช่วงก่อนโควิด-19 พบว่า ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 300,000 คนต่อวัน ฟื้นตัวร้อยละ76.5 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ทอท.มั่นใจว่าจากการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น จะส่งผลให้ผู้โดยสารกลับมาเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้
“เราคาดการณ์ว่าภาพรวมรายได้ในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากครึ่งปีแรก ทอท.มีผลการดำเนินงานทำกำไรแล้วราว 2 พันล้านบาท ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังจากนี้ มองว่าจะสอดคล้องกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในช่วงระหว่างนี้จึงถือเป็นช่วงที่ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถของการบริการภายในท่าอากาศยาน รองรับต่อการเติบโตของผู้โดยสาร”