ปลื้ม“sacit Craft Fair” ปี 2566 ตอบโจทย์คนเมืองที่ชื่นชอบงานฝีมือร่วมสมัย
“sacit” เผยคนเมืองแห่ช๊อปงานหัตกรรมร่วมสมัยฝีมือคนไทยใน“sacit Craft Fair” ประจำปี 2566 ระหว่าง 22-28 มิถุนายน66 ที่ผ่านมาทำยอดขายทะลุ 7.7 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าส่งเสริมงานคราฟต์ฝีมือคนไทยทั้งในและต่างประเทศ
นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ sacit กล่าวว่า ตามที่ศักดิ์สิทธิ์ในฐานะหน่วยงานทำหน้าที่ในการสืบสาน สร้างสรรค์และส่งเสริมงานหัตถกรรมไทย ทั้งงานอนุรักษ์แบบดั้งเดิมและร่วมสมัยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศได้จัดงาน “sacit Craft Fair” ประจำปี 2566 ณ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเกินคาดใน“sacit Craft Fair” ประจำปี 2566 มีประชาชนเข้าเยี่ยมชมจำนวนมากทำยอดขายได้ 7,769,387 บาท โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ กลุ่มเครื่องประดับ เครื่องทอง-เครื่องเงิน รองลงมาเป็นกลุ่มงานจักสาน เสื้อผ้า เครื่องหนัง และของใช้ของตกแต่งบ้านและเตรียมจัดงานดังกล่าวอีก 2 ครั้งที่ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 ระหว่างวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2566 และเดอะมอลล์โคราช ระหว่างวันที่ 17-23 สิงหาคม 2566
สำหรับงาน ““sacit Craft Fair” ได้มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Sustainspiration” ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่าง Sustainability + Inspiration เมื่อแรงบันดาลใจ ถูกเจียระไนผ่านกาลเวลา ผ่านภูมิปัญญาทักษะแบบดั้งเดิม จนกระทั่งโลกได้เดินทางสู่เทรนด์แบบสมัยนิยม ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเป็นผลงาน “คราฟต์บันดาลใจสู่ความยั่งยืน”
งานคราฟต์เหล่านี้ จึงไม่เพียงแต่ยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ยังสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน และโลกได้ถึงขีดสุด โดยมีการนำผลงานคราฟต์ร่วมสมัย มาจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก เป็นคอมมูนิตี้ สำหรับแลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อยอดทางความคิดในการประกอบอาชีพ กลุ่มผู้ซื้อที่ชื่นชอบงานคราฟต์ มีพื้นที่จับจ่ายใช้สอย โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงแหล่งผลิตต้นทาง เป็นการอุดหนุนชุมชน เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งถือเป็นการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน
“เรายังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์และผลงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่แสดงถึงการต่อยอดทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิต ที่มีความเข้าใจด้าน BCG Model ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุที่มีในท้องถิ่น วัสดุเหลือใช้ หรือของที่มีมากในชุมชน ไปจนถึง กระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างขยะน้อยที่สุด แต่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Fashion โดยสนับสนุนสินค้าประเภท Slow Fashion เป็นสินค้าที่ถูกสร้างและผลิตขึ้น เพื่อนำไปสู่โลกที่สมดุลมากกว่าเดิม และยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองในปัจจุบันได้ ซึ่งงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาส สร้างรายได้ และเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น” นายภาวี กล่าว
สำหรับการจัดงาน “sacit Craft Fair ” ประจำปี 2566 ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งในวันนี้เราจัดงานขึ้นที่เดอะมอลล์ ท่าพระ ตั้งแต่วันที่ 22-28 มิถุนายน 2566 รวม 7 วัน โดยมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานคราฟต์กว่า 45 ร้าน อาทิ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องปั้นดินเผา ของตกแต่งบ้าน งานจักสาน งานโลหะ งานผ้า งานกระดาษ งานไม้ ซึ่งงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบบ Sustainable Fashion หรือ Slow Fashion คุณภาพดี ผลิตอย่างใส่ใจ ไม่ต้องวิ่งตามกระแส