'พรพล เอกอรรถพร' เผยภารกิจหลังเปลี่ยนชื่อ 'ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ'
ฟังจากปาก "พรพล เอกอรรถพร" ภารกิจและหลายโครงการใหม่หลังเปลี่ยนชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ" ดันศิลปหัตถกรรมไทยเดินหน้าสู่ตลาดคนเจน Z และตลาดต่างประเทศ ยังคงทำงานตามแนวทาง "พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" เพียงแต่ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเสริม
ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 มาตรา 7 กำหนดให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ที่มา : www.sacict.or.th)
สิบปีต่อมา หรือในปีพ.ศ.2564 นี้เอง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. และตามที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand (Public Organization)เรียกโดยย่อว่า SACICT อ่านพ้องเสียงกับคำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ในภาษาไทย กำลังจะได้รับการประกาศเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หลังจาก ศ.ศ.ป. ได้ผู้อำนวยการคนใหม่ชื่อ พรพล เอกอรรถพร อดีตประธานเครือข่ายโอทอปประเทศไทย
มีเหตุผลและแผนการทำงานใหม่ๆ หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการเปลี่ยนชื่อองค์การซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
เหตุผลของการเปลี่ยนชื่อ ศ.ศ.ป.
“หน้าที่สำคัญของเราคือดูแลงานศิลปหัตถกรรม ปัจจุบันชื่อของเรายังใช้ชื่อว่า ‘ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ’ จุดประสงค์คือ เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมาส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพและผลักดันการส่งออกไปต่างประเทศ
อย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ เราก็ได้มองดูแนวทาง ว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ความคล่องตัวของ ‘องค์การมหาชน’ ทำงานให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งต่างจากหน่วยงานราชการ
ผมยกตัวอย่างเช่น พอเรามีภารกิจดูแลงานศิลปหัตถกรรม เราก็สามารถที่จะมองทั้งระบบว่าวัตถุดิบเป็นอย่างไร ควรต้องทำอย่างไร ผมก็มีสิทธิ์ไปหาที่ปรึกษาเก่งๆ ทางด้านนั้นมาช่วยได้ หรือด้านการตลาด เราทำอีคอมเมิร์ชของเราเอง เราทำอินเทอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้งของเราเอง ซื้อขายสินค้า รับเงินแทนผู้ประกอบการได้เลย ซึ่งต่างจากหน่วยราชการที่จะไปรับเงินอย่างนั้นไม่ได้ เราจะใช้จุดแข็งตรงนี้มาทำให้งานส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมเดินหน้าได้
เพราะฉะนั้นด้วยแนวทางอย่างนี้ ก็จะมีการปฏิรูปองค์กรในเวลาอันใกล้นี้ หลักการได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี และจะเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ฟังชื่อก็รู้เลยว่าหน้าที่ที่จะต้องเดินต่อไปอย่างไร
ถ้าเป็นผู้ประกอบการ ฟังชื่อสถาบันฯ ก็จะรู้ทันทีว่า ถ้าจะหาอะไรเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมไทยก็ต้องที่นี่ หาความรู้ หาความช่วยเหลือ หาการส่งเสริม
ถ้าเป็นคนทั่วไปได้ยินชื่อนี้ ก็เกิดความรู้สึกอยากจะรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับหัตถกรรมก็ต้องมาที่นี่ เป็นคลังความรู้ทั้งหมด
หลังเปลี่ยนชื่อองค์การ ภารกิจจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไรหรือไม่
“ภารกิจแต่เดิมในกฎหมายมักจะพูดแค่ว่า ให้ส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งผมก็ไปประชุมกับกรรมการกฤษฎีกา ผมขอเติมว่าให้ ส่งเสริมอย่างยั่งยืน ความหมายก็คือ ถ้าบอกว่าส่งเสริม ส่งเสริมเสร็จ เขารับรู้วันนั้น แต่เขาไปต่อไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ หน่วยงานของรัฐควรคิดว่าส่งเสริมเขาแล้วมันเดินได้จริงๆ ด้วย
เนื่องจากความเป็นองค์การมหาชน คือหน่วยงานของรัฐรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ระบบราชการ มีความคลล่องตัวกว่า เราทำงานเหมือนเอกชน เมื่อเรามีภารกิจเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรม ผมจึงเริ่มเปลี่ยนแนวทางว่า เราจะทำเป็นชุมชนๆ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ยกตัวอย่าง จักสานเตยปาหนัน จังหวัดตรัง กระบวนการแรก เราจำเป็นต้องมีความยั่งยืน และเราต้องตอบโลกได้ว่าเรารักษาสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยเราใช้วิธีอย่างไรให้เตยปาหนันเกิดเองตามธรรมชาติหรือยุให้เกิดอะไรก็แล้วแต่ แต่นั่นหมายความว่าเราต้องมีคำตอบให้โลกได้ ว่าเรารักษาสิ่งแวดล้อม นั่นคือความยั่งยืนของโลก ตัวนี้คือจุดขาย และเป็นเทรนด์ที่จะขายไปต่างประเทศด้วย
กระบวนการที่สอง เมื่อตัดใบ(เตยปาหนัน)มา ชุมชนต้องมารูดเอาหนามออก เราน่าจะสร้างเครื่องมือง่ายๆ มาช่วยได้ ล่าสุดผมก็กำลังนัดหมายคณบดีด้านเครื่องมือของลาดกระบัง(สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)มาทำโครงการร่วมกัน
เครื่องมือยังคงมีความเป็นหัตถกรรมอยู่นะครับ ไม่ใช่เครื่องมือที่ทิ้งความเป็นงานหัตถกรรมไปเลย เพราะว่าต้นทุนของกลุ่มชุมชนไม่เคยคำนวณ โดยเฉพาะค่าแรง ปกติชาวบ้านอยู่เฉยๆ บางทีไปเก็บหอยมาก็ได้กิน ถ้าไปทำงานกันในเมืองหลวง ต้องไปเช่าบ้านด้วย อยู่ไม่ได้
พอมาเป็นเส้นใยที่นำไปต้มไปแช่ มันยังไม่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ไปตรวจสอบ ว่าเส้นใยเหล่านี้มีสารอะไรเจือปน มีข้อห้ามของต่างประเทศหรือไม่ โอกาสเกิดรามีกี่เปอร์เซ็นต์ หรือเรามีอะไรที่ทำให้ไม่เกิดราร้อยเปอร์เซ็นต์
รวมไปถึงเรื่องสีย้อมธรรมชาติที่บอกว่าย้อมไม่ติด เพราะเป็นการลองผิดลองถูกของชาวบ้าน แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์บอกได้ ว่าเส้นใยลักษณะนี้ ถ้าสีย้อมธรรมชาติเชื้อเดียวกันแบบนี้ สีจะติดได้ยังไง นี้ก็เป็นจุดขาย เรื่องสีย้อมธรรมชาติของผ้า เรามีสารธรรมชาติเยอะแยะที่ย้อมได้ เราสามารถนำมาผสมกันทำให้เด่นไปเลยก็ได้
งานศิลปหัตถกรรมไทย เดินควบคู่ ‘งานวิจัย’
“งานหัตถกรรมก็ทำไป แต่งานวิจัยต้องเดินไปด้วย ถ้าเราได้สีย้อมเป็นจุดขาย ย้อมสีธรรมชาติ เป็นสีที่ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ที่ผมขอไว้ในภารกิจของเราก็คือ เรารับรองมาตรฐานด้วย ต่อไปมีตราศักดิ์สิทธิ์ (SACICT) ไปอเมริกาได้เลย เพราะถือว่าเรารับรองมาตรฐานให้กับงานหัตถกรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
หรือถ้าสีธรรมชาติย้อมไม่ติดจริงๆ ย้อมด้วยสีเคมีแล้วเคลือบนาโน แล้วจบปัญหาได้ไหม น้ำไม่ซึม แบคทีเรีย-ราไม่ขึ้น สารพิษไม่กระจายออก เส้นใยนิ่มขึ้น การทำงานง่ายขึ้น
หัตถกรรมไทยทำไมส่งออกไม่ได้ เพราะเราไม่เคยมีมาตรฐานหัตถกรรม ที่ผมเข้าใจแบบนี้เพราะว่าผมเป็นประธานโอทอปมาสิบปี ผมเห็นหมดว่าผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาตรงไหน หน่วยงานของรัฐมีจุดอ่อนตรงไหน ไม่ใช่ว่าไม่เก่งนะครับ หน่วยงานของรัฐพยายามทุกอย่าง แต่ด้วยระเบียบ เขามีจุดอ่อน เขาทำได้ไม่เต็มที่ พาณิชย์ทำได้แค่ขาย อุตสาหกรรมช่วยพัฒนา”
ตัวอย่างโครงการปีพ.ศ.2564
“ปี 2564 เป็นปีเชื่อมต่อจากกรณีที่เรากำลังปฏิรูปองค์กร ซึ่งหลายๆ โครงการในอดีตผมนำมาปรับปรุงใหม่ เพราะเราเห็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง มองภาพงานศิลปหัตถกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอนาหมื่นศรี จักสานเตยปาหนัน สิ่งหนึ่งที่เป็นภาพชัดเจนว่าเป็นปัญหาของงานศิลปหัตถกรรมไทยก็คือ เป็นงานของคนวัยหนึ่ง คือคนในยุคเบบี้บูม หรือเจนเอ็กซ์ หรือเจนวายบางส่วน
เจนวายส่วนใหญ่หรือมาเจนซี(Z) เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้มองเห็นอัตลักษณ์หรือคุณค่าเหมือนกับคนรุ่นเก่า ปัญหานี้ส่งผลกับการตลาด คนซื้อน้อยลงทุกวัน เมื่อกลุ่มลูกค้าน้อยลง ปัญหาก็คือทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ยังเห็นคุณค่าของงานของเราอยู่ และก็หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันรวมไปถึงราคาต้นทุน ทำอย่างไรให้ราคาต้นทุนลดลง แต่ยังคงอัตลักษณ์เดิม
ดีไซน์ต่างๆ คนรุ่นใหม่เรื่องความคิดแนวคิดดีไซน์ รูปทรง รูปร่าง อาจไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่าแล้ว ต้องมีการดีไซน์ที่ตรงอายุเขา
เราต้องมานั่งคิด ทำอย่างไรดีที่จะเอาคนรุ่นใหม่มาบวกงานร่วมกับเรา มาสร้างดีไซน์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดตลาดใหม่ ถ้าตลาดใหม่ตรงนี้เกิดขึ้น คนรุ่นใหม่พอใจกับงานศิลปหัตถกรรม ตลาดก็ขยายตัวออก ก็ทำให้ผู้ประกอบการงานด้านนี้สามารถคงอยู่ได้ ผมว่าเป็นหัวใจหลัก ถ้าเรามองโจทย์ตรงนี้แตก และเราวางแนวทางทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น งานศิลปหัตถกรรมไทยก็เดินต่อ
คำว่า ‘แบบ’ ทาง ศ.ศ.ป. จะเป็นคนกลาง ต้องดูแบบ..ว่าคุณใช้ได้จริงๆ เข้าตลาดได้จริง ทดสอบตลาดตามหลักวิชาการ ผมเชื่อว่าในแต่ละปีเราจะมีสินค้าหัตถกรรมไทยที่ทันสมัย ออกมาให้เราเห็นเป็นร้อยเป็นพันชิ้น และเรามีงานแฟร์ของเรารองรับ
ตอนนี้เราทำโครงการที่ผมเตรียมคุยกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่มีนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผมจะนำดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาขึ้นรายชื่อไว้กับเรา แล้วคุณอยากทำเรื่องอะไร อยากทำเรื่องเตยปาหนัน...จับคู่กัน แต่มันมีค่าใช้จ่าย นี่กำลังคิดโมเดลอยู่ สมมุติค่าออกแบบห้าหมื่นบาท ค่าต้นแบบอีกสองหมื่น รวมเป็นเจ็ดหมื่นบาท ชุมชนจ่ายไหวไหม
เราก็จะพยายามหาโมเดล เช่นตั้งกองทุน เจ็ดหมื่นบาททางเราจ่ายไป ได้สินค้าขึ้นมา ตอนนี้ผมกำลังของบประมาณทำเว็บไซต์เป็นงานศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะ ไปเข้าแพลตฟอร์มช้อปปี้(Shopee)ก็ขายไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริง งานศิลปหัตถกรรมไทยไปเข้าช้อปปี้ ลาซาด้า(Lazada) ตายหมด ขายไม่ออก
แต่ถ้าเราทำเว็บไซต์โดยเฉพาะของเรา ที่มีทั้งสตอรี่ สร้างคุณค่าให้เห็น โปรโมตเว็บไซต์เหมือนกับที่ช้อปปี้เขาโปรโมต โดยสถาบันเราขายเองเก็บเงินเองและส่งให้ชุมชน ก็ทำให้ความคล่องตัวเกิดขึ้น
พอมีคนสั่งซื้อ ทางกลุ่มส่งเองโดยตรงก็ได้ เพราะเราเชื่อมั่นว่ามาตรฐานสินค้าเขาถึง และขอให้ส่งตรงเวลา แต่ถ้าทำไม่ได้ เอาสต็อคมาให้เราดูแลก่อน เราดูคุณภาพและบริการส่งให้เสร็จ อย่างนี้เป็นต้น แต่เราขอเปอร์เซ็นต์คืน เช่น 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำเงินตรงนี้กลับสู่กองทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาสินค้าให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป ไม่ใช่เอาเงินของรัฐจ่ายแล้วหายวับไปเลย แต่เงินนี้จะทำให้กองทุนเกิดการหมุนเวียน
อีกงานที่ผมประมูลไปแล้ว คือแต่เดิมใช้งบฯ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผล ผมประมูลไปแล้วคือจะเกิดเรียลิตี้โชว์ จุดประสงค์ของผมคือต้องการให้สื่อไปยังคนรุ่นใหม่ เอานักพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ละมหาวิทยาลัยจัดทีมมาแข่งกัน ผมจะจัดลงพื้นที่ เช่นจัดแข่งจักสาน 5 แห่ง แบบมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ มีดราม่าคิดออกคิดไม่ออกให้มันสนุก
เราลองมองย้อนไปเมื่อห้าปีที่แล้ว มีใครอยากเป็นเชฟบ้าง แต่ด้วยอิทธิพลของรายการแข่งขันทำอาหาร ณ วันนี้ไปถามเด็ก ผมว่าอย่างน้อย 10-20 เปอร์เซ็นต์อยากเป็นเชฟ เพราะฉะนั้นเราจะมีรายการของเราฉายทุกสัปดาห์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนไทยทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเดิมเกิดความรักในงานหัตถกรรมและเกิดความภูมิใจ”
การให้ความช่วยเหลือผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมไทยเนื่องจากโควิด-19
“โควิด-19 เป็นผลกระทบทั่วโลก ศักดิ์สิทธิ์(SACICT)เราเป็นองค์การไม่ใหญ่ มีงบประมาณจำกัด แต่เรามานั่งคิดดู ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างนี้ รัฐบาลก็ช่วยทุกวิถีทางอยู่ แต่ทาง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ก็ถือเป็นโอกาสในการที่เราจะเปลี่ยนตัวเอง เราทำงานรองรับในช่วงนี้ให้เสร็จ
งานหัตถกรรมของเราแต่ละอย่าง ตามจริงแล้วการจะส่งออกไปต่างประเทศได้จริงๆ มันต้องรู้มาตรฐานแต่ละประเทศต้องการอะไร
ผมยกตัวอย่าง ‘ผ้า’ การย้อมผ้าด้วยสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีธรรมชาติ หรือสีเคมี มันก็คือเคมีทั้งนั้น เหมือนกับที่คนกล่าวว่า โรงงานเคมีที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือป่า แต่เราก็ต้องรู้ว่าเมื่อเราย้อมด้วยสีเหล่านี้ ยุโรปยอมรับไหม อเมริกายอมรับไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการทำกันมาก่อน
ตรงนี้ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เราก็จะเริ่มจัดระบบและวางมาตรฐาน และใช้มาตรฐานของต่างประเทศเพื่อมากำหนดให้งานหัตถกรรมเราเริ่มเดินเข้าที่เข้าทางและพร้อมที่จะส่งออกได้
ที่ผมพูดถึงตลาดคนรุ่นใหม่เมื่อสักครู่ อีกตลาดหนึ่งก็คือตลาดต่างประเทศ ถ้าอยู่ดีๆ เราคิดว่าจะส่งออกต่างประเทศ เขาพอใจรูปแบบเราแล้ว ผลิตภัณฑ์เราตรงใจเขาแล้ว แต่ถ้าติดข้อห้ามเขา เราก็ส่งออกไม่ได้
การทำงานเราก็ต้องเตรียมการตรงนี้ให้พร้อม และพยายามที่จะส่งเสริมเรื่องตลาดอินเทอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง ขณะนี้เรากำลังร่างทีโออาร์ กำลังจะเปิดประมูล กำลังจะเชิญคนที่เก่งจริงๆ เรื่องอินเทอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง ผมว่ามันเคลื่อนไหวตลอดเวลา ใครว่าเก่งวันนี้ อีกสักเดือนข้างหน้าอาจไม่เก่งแล้ว เพราะแต่ละแพลตฟอร์มก็อัพเวอร์ชั่นของเขา มีเทคนิคของเขามากมาย เราต้องสร้างทีมงานที่ตามทันตลอดเวลา เพื่อผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมไทยอยู่ในจุดที่คนสนใจโลกสนใจให้ได้ เรายังคงทำงานตามแนวทางของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพียงแต่เราใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเสริม”
* * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ