ศักยภาพของนักลงทุน ซาอุดีอาระเบียในพื้นที่ EEC

ศักยภาพของนักลงทุน  ซาอุดีอาระเบียในพื้นที่ EEC

ซาอุดีอาระเบียถือเป็นดาวดวงใหม่ในโลกแห่งการลงทุน เนื่องจากชาติผู้นำโลกอาหรับแห่งนี้ กำลังใช้โอกาสจากการออกไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน

ท่ามกลางกระแสโลกที่อยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

จากรายงานฉบับล่าสุดขององค์กรว่าด้วยการค้า และการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCTAD) ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศเจ้าของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออก (Outward FDI) ลำดับที่ 15 ของโลก รองจากเนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก โดยในปี 2564 มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.4 แสนล้านบาท) ซึ่งตัวเลข FDI จากซาอุดีอาระเบีย ไปยังต่างประเทศตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) แบบก้าวกระโดดถึงปีละ 55.4% 

ปัจจัยหลักจากการขับเคลื่อนนโยบาย Saudi Vision 2030 ที่จะผลักดันให้ซาอุฯ เป็นประเทศแถวหน้าที่มีขนาดของ GDP ติดอันดับ 1 ใน 15 ของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจโลกภายในปี 2573 หรือจะสามารถแซงหน้าสเปนในขณะนี้ ซึ่งมาตรการสำคัญประการหนึ่งของนโยบายนี้คือ การออกไปลงทุนต่างแดนผ่านบรรษัทข้ามชาติ และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุฯ ซึ่งจะเป็นกลไกเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสู่ภูมิภาคอาหรับ อันจะช่วยกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศซาอุฯ ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ในกรณีของไทยนั้น การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนซาอุฯ เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย โดยเม็ดเงินลงทุนในปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 62.3% แตะระดับ 1.14 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ และรองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมอาหาร 

Krungthai COMPASS มองว่า การลงทุนของซาอุฯ ในไทยยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เนื่องจากแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าว สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของซาอุฯ ที่ต้องการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะชะงักงันด้านการผลิตและลดการพึ่งพาน้ำมัน ซึ่งจะปฏิรูปภาคการผลิตของซาอุฯ ไปสู่ภาคเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ วัสดุก่อสร้าง และการบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อ

สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นต้น การมีฐานการผลิตในไทยจะช่วยเสริมศักยภาพของซาอุฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP อันเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก และมีชาติมหาอำนาจ เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นสมาชิก

การเข้ามาลงทุนของซาอุฯ ในพื้นที่ EEC จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออก ซึ่งไม่ได้มีเพียงภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Wellness) ตลอดจนการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนหนุนการเติบโตของ GDP ไทย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องเผชิญภาวะผันผวนในระยะข้างหน้า

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์