มองต่างมุม ‘จุดยืนไทย’ ในเวทีโลก ‘เป็นกลาง’ หรือ โอนอ่อนตาม ‘กระแสโลก’
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเนื่องจากกระทบต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งการกำหนดนโยบายต่างๆทั้งภายในและภายนอกของประเทศต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการแข่งขันของมหาอำนาจเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐฯและจีน ได้ทำให้เกิดสงครามการค้า (Trade War) รวมทั้งสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ซึ่งมีการเปรียบเทียบกับการเกิดสงครามเย็นรอบใหม่
แต่ยังไม่ทันที่สงครามทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจจะคลี่คลายไปมากนัก โลกก็ต้องเข้าสู่ภาวะตรึงเครียดจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 มาจนถึงปัจจุบันกินระยะเวลามากกว่า 16 เดือน
ผลจากสงครามทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ราคาพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาอาหารธัญญาพืช และราคาปุ๋ย ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจนไปดันเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น จนหลายประเทศต้องเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้นนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อมาจนถึงปัจจุบัน
ความขัดแย้งในเวทีโลกทำให้เกิดแรงกดดันมายังประเทศต่างๆนอกจากการต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากถภาวะสงครามยังต้องรับมือจากแรงกดดันจากนานาชาติให้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับความสถานการณ์ความขัดแย้ง และจุดยืนต่อในต่อต้าน หรือประณามประเทศที่เป็นผู้เริ่มการรุกรานในเหตุการณ์ต่างๆ
จุดยืนไทยเรื่องรัสเซีย-เมียนมา โจทย์ใหญ่รัฐบาล
ซึ่งกรณีของประเทศไทยเองมีประเด็นที่ถูกเรียกร้องให้แสดงจุดยืนในเวทีนานาชาติ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือหนึ่งเรื่องการบุกเข้าไปในยูเครนของรัสเซีย อีกกรณีคือจุดยืนที่ไทยจะมีต่อสถานการณ์ในเมียนมาภายหลังการขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามทั้งสองเหตุการณ์ไทยแสดงจุดยืน “เป็นกลาง” และไม่โหวต “ประณาม” ทั้งรัสเซีย และรัฐบาลทหารเมียนมา โดยในส่วนของรัสเซียนั้นไทยเป็น 1 ใน 35 ประเทศที่ “งดออกเสียง” ในการลงมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามรัสเซียผนวกรวมดินแดน 4 ภูมิภาคของยูเครน” ประเทศไทยเป็น 1 ใน 35 ประเทศที่งดออกเสียงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2565
ขณะที่ "สถานการณ์ในเมียนมา" นั้นไทยให้คำตอบกับเวทีระหว่างประเทศว่าไทยยึดมติของอาเซียนในการรักษาความเป็นกลาง และไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตามทั้งสองประเด็นทั้งเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครน และในเมียนมา จะเป็นแรงกดดันในระยะต่อไปถึงจุดยืนของไทยในเวทีระหว่างประเทศว่าจะตัดสินใจ และมีจุดยืนอย่างไร ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทั่วโลกจับตา
ในการจัดเสวนา เวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการให้ความเห็นเรื่อง “จุดยืนของไทยในเวทีโลก” จากผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่านด้วยความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้
"สุรชาติ" ชี้ไทยควรมีจุดยืนในเวทีโลกรับวิกฤติถาวร
ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “วิกฤติถาวรระเบียบโลก และผลกระทบต่อประเทศไทย” ว่าโลกในปัจจุบัน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของโลก ที่เป็น disruption ที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และเกิดภาวะแบบที่เรียกว่า “วิกฤติถาวร” หรือ “permacrisis
ศ.สุรชาติกล่าวต่อว่าคำถามที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่จะต้องให้คำตอบก็คือสถานะของไทยในเวทีโลก คือรัฐบาลไทยใหม่จะวางประเทศไทยไว้ตรงไหนบนแผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก รวมทั้ง รัฐบาลจะพลิกฟื้นสถานะทางการเมืองของไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างไร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจในเวทีโลกโดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่จะเป็นแรงกดดันให้ประเทศไทยแสดงจุดยืนจะมีทั้งเรื่องของความขัดแย้งระหว่างยูเครน และรัสเซีย และเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งทางออกของประเทศไทยนั้นอาจไม่ใช่การระบุว่าประเทศไทยเป็นกลาง เพราะการบอกว่าเป็นกลางในเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นั้นเหมือนกับว่าไทยนั้นเอนเอียงไปทางจีน หรือเป็นกลุ่มประเทศทางแอฟริกาที่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการขยายการลงทุนของจีน
“ทางออกของไทยคือเราจะเดินไปตามกระแสโลก หากโลกไปอย่างไรเราก็จะไปตามนั้น เลิกคิดว่าเราเป็นกลาง แต่เป็นกลางแบบฟรุ้งฟิ้งในบ้านเรา โจทย์ใหญ่รัฐบาลต่อไปทั้งเรื่องยูเครน และเรื่องเมียนมา การไม่โหวต ไม่ออกเสียงใน UN เท่ากับถูกมองว่าเราโน้มตามจีนได้ ซึ่งการไม่แสดงความเห็นในเรื่องเหล่านี้ในเวทีโลกทำให้เราถูกกดดันมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ” ศ.สุรชาติ กล่าว
"FETCO" ชี้ไทยได้ประโยชน์จากความเป็นกลาง
ขณะที่ในมุมมองของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กลปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง” ว่าโจทย์ของประเทศไทยหลังเลือกตั้งรัฐบาลที่เข้ามาจะเผชิญหลายความท้าทาย เช่น เรื่องเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อีกส่วนหนึ่งจะความท้าทายในเรื่องจุดยืนของประเทศไทย โดยบริบทความขัดแย้งของมหาอำนาจโลก ซึ่งในประเด็นนี้ทั้งจีนและสหรัฐฯต้องการให้ไทยแสดงจุดยืนว่าเราอยู่ข้างมหาอำนาจฝั่งไหน แต่ประเทศไทยนั้นย้ำจุดยืนของอาเซียนในการที่เป็นกลาง และปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะต่อไปมากกว่าเราจะเข้าข้างมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่ง
“ทั้งจีนและอเมริกานั้นต้องการให้เราเลือกข้าง แต่การเลือกข้างไม่ใช่คำตอบ การที่เป็นกลางจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเป็นทางออกให้เราสามารถที่จะดึงเอาข้อดีที่สุดของทั้งสองฝ่ายมาเป็นของเราได้ ผมคาดว่าในอนาคตจะมีประเทศที่เป็นกลางเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ประเทศที่เป็นกลางจะมีคุณค่ามากขึ้น ทำอย่างไรที่รัฐบาลใหม่จะกำหนด position ของเราในส่วนนี้ให้ได้เพื่อดึงการลงทุนจากภายนอกเข้ามายังประเทศไทย” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว