ความหวังผู้ส่งออกไทย เร่งตั้ง 'รัฐบาลใหม่' ดันตลาดครึ่งปีหลัง
การส่งออกสินค้าของไทยชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งล่าสุดการส่งออกช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 116,344 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วติดลบ 5.1% แม้ติดลบลดลง แต่ยังมีความกังวลในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ที่มีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้าน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2566 ที่มีมูลค่า 24,340 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วหดตัว 4.6% แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2566 มีมูลค่า 20,249 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.5% และอยู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน
"การส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและยังดีกว่าบางกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงมองว่าเดือน มิ.ย.นี้จะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น และหากดูในแง่ของดัชนีผู้ซื้อ เรื่องการฟื้นตัวของจีนแม้ว่าจะฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังสามารถบังคับคองไปได้ ดีกว่าโซนภูมิภาคยุโรป และอีกตลาดที่มีกำลังซื้อที่สำคัญ คือ อินเดีย”
นอกจากนี้ ในช่วงสิ้นปี 2566 ยังต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะภาคอาหารอย่างน้ำตาลทรายเพราะยุโรปจะปิดโควต้าผู้ส่งออก จะต้องดูว่าจะสามารถขยายตลาดไปที่อื่นได้หรือไม่ ส่วนข้าวจะเกิดปัญหาด้านซัพพลายเพราะปรากฎการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งได้ และกระทบต่อซัพพลายที่น้อยลง แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 มิ.ย.2566 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ หากมองปีต่อปีพบว่าอ่อนค่า 1.7% และหากเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 อ่อนค่าที่ 3.19% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค แต่ก็เป็นทิศทางที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในไทย และอีกปัจจัยคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน จึงส่งผลให้การไหลออกของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมากระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน
ทั้งนี้แม้ในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าตัวเลขติดลบอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเดือน มิ.ย.2566 คาดว่า อย่างน้อยการส่งออกจะอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์ จะใกล้เคียงกับเดือน พ.ค.2566 ที่มีมูลค่า 24,340 ล้านดอลลาร์
ดังนั้น จะต้องมุ่งส่งสินค้าที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐที่ไทยส่งออกเกือบ 20% รวมถึงเร่งสิ่งสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงได้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (เวียดนาม ลาว เมียนมาและกัมพูชา) ที่ต้องเร่งการค้าชายแดน
“ช่วงสถานการณ์เอลนีโญจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.2566-มิ.ย.2567 จึงต้องดูปริมาณน้ำฝนในช่วงที่จะเกิดขึ้นที่จะกระทบกับภาคเกษตรกรรมทั้งข้าว อ้อย ทุเรียน มะม่วงและมะพร้าว"
รวมทั้งกรมชลประทานได้ประมาณการปริมาณน้ำในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 36,250 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 53% ของความจุปริมาณเก็บน้ำทั่วประเทศที่มี 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน่าจะมีการบริหารจัดการได้ โดยพื้นที่ทำการเกษตรแบ่งออกเป็นเขตชลประทาน 24% และเขตนอกชลประทาน 74%
นอกจากนี้ สรท.ได้คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ระหว่าง -0.5% ถึง 1% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่
1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน หลังจากการเปิดประเทศของจีนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ส่วนดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐ ลดต่ำลงอยู่ที่ 46.3 ในขณะที่ยุโรปอยู่ระดับระดับ 43.6
2.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ 3. ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย และ 4.ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ เอลนีโญ ต่อภาคการเกษตรในประเทศ
นายชัยชาญ กล่าวว่า สรท.ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย
1.เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 2.ขอให้ภาครัฐเร่งลดต้นทุนภาคการผลิต ที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ย
3.เร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.เร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
“อยากฝากรัฐบาลดูเรื่องอัตราดอกเบี้ยโดยแต่เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย รวมถึงราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟ ซึ่งที่ผ่านมาเอสเอ็มอีค่อนข้างสาหัส เราจะต้องฝ่าวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน ทางภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานแบบเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ"
รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุดแม้ไทยผ่านปี 2566 ไปได้แต่โจทก์ใหญ่ปี 2567 รออยู่ โดยการตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพเพื่อให้ทำงานส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำโจทย์ใหญ่เรื่องนี้อย่างมีระบบและมีกลยุทธ์ร่วมกัน