รัฐจ่อใช้ 'กองทุนน้ำมัน' ตรึงดีเซล หลัง 'มาตรการภาษี' หมดอายุ
“อาคม” ส่งสัญญาณ ให้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคาดีเซลต่อหลังมาตรการลดภาษีหมดอายุ 20 ก.ค.นี้ เผยสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวกมีเงินไหลเข้าเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หนี้สะสมลดเหลือ 5.5 หมื่นล้านบาท หากเข้า ครม.ขอลดภาษีดีเซล ต้องส่ง กกต.ไม่คล่องตัวเท่าใช้กองทุนน้ำมันฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีมาตรการลดภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่จะหมดอายุในวันที่ 20 ก.ค.ว่า ในเรื่องนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถที่จะดูแลได้ในขณะนี้
เมื่อถามย้ำว่าจะไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลใช่หรือไม่ นายอาคมตอบว่า ก็กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องและสามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศได้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการหารือกันของรัฐบาลเรื่องการดูแลราคาน้ำมันดีเซลซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายในการพิจารณาแนวทางในการดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการหารือในทางเลือกของการดูแลราคาน้ำมันดีเซลซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้วิธีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร แต่แนวทางดังกล่าวใช้ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงและกองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบทำให้ต้องมีมาตรการลดภาษีเพื่อช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ
ส่วนในปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงเป็นลำดับ และทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะเป็นบวก โดยมีเงินไหลเข้าวันละ 389.13 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และทำให้กองทุนน้ำมัน มีภาระหนี้สินเหลือเพียง 5.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยมีหนี้สูงถึง 1.2 แสนล้านบาท
โดยข้อมูลการเงินสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดที่สถานะกองทุนเป็นบวกทำให้รัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่ให้กระทรวงพลังงานใช้การบริหารเงินในกองทุนน้ำมันฯ แทนซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงานแล้ว
นอกจากนี้เนื่องจากในปัจจุบันอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรัฐบาล หาก ครม.มีการอนุมัติให้มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ก็ต้องส่งเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มขึ้นก่อนที่จะสามารถลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลได้ ซึ่งการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ จะมีความคล่องตัวกว่าในการดำเนินการในช่วงเวลานี้
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีมาตรการ การลดภาษีดีเซลที่ผ่านมารวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐบาลรวม 158,000 ล้านบาท ดังนี้
1.วันที่ 18 ก.พ.- 20 พ.ค.2565 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท
2.วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
3.วันที่ 21 ก.ค. - 20 ก.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
4.วันที่ 21 ก.ย. - 20 พ.ย.2565 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
5.วันที่ 21 พ.ย.2565 - 20 ม.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
6.วันที่ 21 ม.ค. - 20 พ.ค.2566 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
และ 7.วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2566 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์