Taylor Swift Economy! หลัง ‘The Eras Tour’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อลมหายใจท้องถิ่น

Taylor Swift Economy! หลัง ‘The Eras Tour’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อลมหายใจท้องถิ่น

เป็นมากกว่าคอนเสิร์ต! “Taylor Swift Economy” เมื่อการมาเยือนของป๊อปสตาร์ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง นักท่องเที่ยวแห่ชิงตั๋วคึกคัก ดันยอดจองโรงแรม-ที่พักเพิ่ม กระตุ้นภาคบริการ-ร้านอาหารท้องถิ่น “แดนจิงโจ้” ชี้ ลดความเสี่ยงเกิด “Recession”

Key Points:

  • นอกจากจะเปิดทำการแสดงให้แฟนๆ ได้รับชมแล้ว “The Eras Tour” ของป๊อปสตาร์สาว “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย โดยครอบคลุมภาคการท่องเที่ยว-บริการ ประเทศใกล้เคียงแห่จองตั๋วรับชม
  • มีการประเมินว่า เวิลด์ทัวร์ของเทยเลอร์ครั้งนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาในหลายๆ ประเทศให้กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น โดยอาจมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์
  • อย่างไรก็ตาม กลับมีความกังวลว่า ปรากฏการณ์ “The Eras Tour” จะซ้ำรอยเหมือนกับกรณีของ “บียอนเซ่” ที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสวีเดนหรือไม่


หลังประกาศ “World Tour” ในรอบ 5 ปี “Taylor Swift: The Eras Tour” ก็สร้างปรากฏการณ์-ทุบสถิติยอดจำหน่ายตั๋วทันที โดยมีการประเมินว่า ความสำเร็จของป๊อปสตาร์สาวแห่งยุคครั้งนี้ดันยอดขายตั๋วรับชมคอนเสิร์ตสูงทะลุพันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.3 หมื่นล้านบาท โดย “The Eras Tour” ยังถือเป็นทัวร์คอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้ด้วย

สิ่งที่ตามมาภายหลังการเปิดจองตั๋วคอนเสิร์ต คือ เซกเตอร์อื่นๆ ในภาคเศรษฐกิจกลับมาคึกคักรับการมาเยือนของนักร้องสาวและเหล่าสวิฟตี้จากทั่วทุกมุมโลกทันที หากดูตารางทัวร์ครั้งนี้จะพบว่า เทย์เลอร์ไม่ได้ไปเยือนครบทุกประเทศ โดยเลือกปักหมุดเฉพาะเมืองที่เห็นว่า มีศักยภาพเท่านั้น สำหรับฝั่งเอเชีย “The Eras Tour” ประกาศจัดคอนเสิร์ต 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ทำให้เพื่อนบ้านอื่นๆ รวมถึง “ไทย” ที่ตกขบวนทัวร์ครั้งนี้ปักธงมุ่งหน้าสู่ประเทศผู้ถูกเลือกแทน

Taylor Swift Economy! หลัง ‘The Eras Tour’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อลมหายใจท้องถิ่น

  • “Taylor Swift Economy” เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดย “เทย์เลอร์ สวิฟต์”

การมาถึงของนักร้องสาววัย 33 ปีคนนี้ถูกขนานนามว่า เป็นหนึ่งในวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง แม้แต่ในประเทศบ้านเกิดของเทย์เลอร์อย่างสหรัฐเอง แฟนๆ ก็ยังเดินทางข้ามรัฐเพื่อรับชมคอนเสิร์ตที่พลาดโอกาสไป สร้างบรรยากาศ-ปลุกภาคการบริโภคที่กำลังซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาได้ 

แคลี ค็อกซ์ (Callie Cox) นักวิเคราะห์การเงินบริษัทการลงทุนแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา เมืองที่ “The Eras Tour” ไปเยือนจะมีการเปิดเผยตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวอย่างยอดจองที่พักโดยพบว่า สัดส่วนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ปกตินั้นมีจำนวนมากถึงหลักล้าน หลังบัตรคอนเสิร์ต “Sold Out” สิ่งที่ตามมา คือ ผู้ชมจากต่างถิ่นจะมองหาโรงแรมทันที

เธอยกตัวอย่างกรณีศึกษาในเมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) สหรัฐอเมริกา ที่ “The Eras Tour” เปิดการแสดงไปเมื่อวันที่ 16 และ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมียอดจองโรงแรมสูงถึง 24,000 ห้อง ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติ ซึ่งไม่ใช่แค่ธุรกิจที่พัก แต่การมาเยือนของเหล่าสวิฟตี้ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจในท้องถิ่นตั้งแต่ธุรกิจที่จอดรถไปจนถึงร้านอาหาร

“แดน ฟลีตวูด” (Dan Fleetwood) ผู้บริหาร “QuestionPro Research” บริษัทผู้นำเครื่องมือด้านการวิจัยและเก็บข้อมูลเชิงลึก คาดการณ์ว่า เวิลด์ทัวร์ของเทย์เลอร์ครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจท้องถิ่นในหลายสิบประเทศ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ เขามองว่า หากเปรียบเทียบเทย์เลอร์เป็นขนาดเศรษฐกิจ ป๊อปสตาร์สาวคนนี้สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า 50 ประเทศรวมกัน

  • แม้การบริโภคซบเซา แต่เป็น “ข้อยกเว้น” สำหรับ “The Eras Tour”

หลังจากทุกประเทศกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มีการประเมินว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับตั๋วคอนเสิร์ตอาจเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญน้อยลง เพราะถือเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” อย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการใช้จ่ายเพื่อรับชมคอนเสิร์ตในปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

แคลี ค็อกซ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การใช้จ่ายเพื่อรับชมคอนเสิร์ตในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6 เปอร์เซ็นต์ และยังสูงกว่าปี 2010 ราว 2 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่า ผู้คนยอมจ่ายให้กับสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อชดเชยให้กับเวลาที่เสียไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 แม้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะสูงขึ้นก็ตาม

“The Eras Tour” ก็เช่นกัน ในขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า การมาเยือนของเทยเลอร์ สวิฟต์ อาจช่วยลดความเสี่ยง-แรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ออสเตรเลียดำเนินไปสู่ภาวะถดถอยได้

โดยเทย์เลอร์ปักหมุดวันแสดงในแดนจิงโจ้วันที่ 16-25 กุมภาพันธ์ ปี 2024 ซึ่งในขณะนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการออมเงินในภาคครัวเรือนลดลงเหลือ 3.7 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรก ตอกย้ำถึงรายได้ที่ลดลงจากระดับสูงสุดถึง 23.6 เปอร์เซ็นต์ก่อนเกิดโควิด-19

นักวิเคราะห์จาก “Bloomberg Economics” ระบุว่า เป็นไปได้ที่ “The Eras Tour” จะช่วยดึงดูด-กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคบริการที่เตรียมรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ 

Taylor Swift Economy! หลัง ‘The Eras Tour’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อลมหายใจท้องถิ่น

  • อาจได้เห็น “Taylor-effect” และ “Swift-flation” ?

ความต้องการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิด “ภาวะเงินเฟ้อ” อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่สวีเดนเมื่อครั้งทัวร์คอนเสิร์ตของ “บียอนเซ่” (Beyonce’) โดยในครั้งนั้น “ควีนบี” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิทำนองว่า เธอคือต้นเหตุของอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ เพราะการมาเยือนของป๊อปสตาร์ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้กับหลายภาคส่วน แต่เมื่อทัวร์สิ้นสุดลง นักท่องเที่ยวเดินทางกลับ ก็อาจทำให้การบริโภคภายในซบเซาลงในชั่วข้ามคืนได้

นักเศรษฐศาสตร์จาก “AMP Capital Markets” ระบุว่า หากในอนาคตเวิลด์ทัวร์ของเทย์เลอร์หยุดยั้งเศรษฐกิจถดถอยในออสเตรเลียได้ก็คงเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามเราอาจจะได้เห็น “Taylor-effect” เกิดขึ้น เพราะเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 เป็นช่วงเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า จะเกิดปรากฏการณ์ “Recession” ในออสเตรเลีย

แม้ว่าการมาถึงของบียอนเซ่ในสวีเดนเมื่อครั้งที่ผ่านมาจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ด้วยดีมานด์โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และภาคบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับออสเตรเลียด้วยภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

เว็บไซต์ “นิวยอร์กโพสต์” (New York Post) มองว่า ความสำเร็จของ “The Eras Tour” เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับหลายคน แต่คงไม่ใช่กับ “เจอโรม พาวเวล” (Jerome Powell) ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” (Fed) ที่ยังคงต่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินเฟ้อในภาคบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อว่า อุปสงค์ที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเศรษฐกิจท้องถิ่น แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับ “Affordability Crisis” หรือวิกฤติความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในภายหลัง ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องกลับมาคิดทบทวนถึงเรื่องการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาประสบการณ์การใช้จ่ายของผู้คนให้ยืนระยะต่อไปได้

 

อ้างอิง: EtoroFortuneNew York Post