‘คีรี’ ลุ้นประมูลใหม่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม
จับตา “ศาลปกครองกลาง” นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ปม รฟม.ปรับหลักเกณฑ์ประมูลรอบ 2 รถไฟฟ้าสายสีส้ม “คีรี” ยันล้มประมูลใหม่เป็นทางออกที่ควรจะทำ พร้อมหวังรัฐบาลใหม่สางปมหนี้สายสีเขียว ขณะที่สายสีชมพู เตรียมเปิดประชาชนนั่งฟรี ก.ย.นี้
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งครอบคลุมการก่อสร้างงานโยธาช่วงบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และงานเดินรถไฟฟ้า โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้ยื่นประมูลในวันที่ 9 พ.ย.2563 แต่มีการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล และต่อมามีการยกเลิกการประมูล
หลังจากนั้น รฟม.เปิดประมูลครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 ก.ค.2565 และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้มีการฟ้องศาลปกครองกลาง โดยฟ้องในประเด็นที่มีการออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ก.ค.2566 ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งในส่วนของบริษัทในฐานะภาคเอกชนมองว่า โครงการนี้ควรประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันขั้นตอนตรวจสอบเหล่านี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว คงต้องรอให้มีการพิจารณาตามขั้นตอน
รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้ส่งข้อมูลให้ศาลปกครองกลางพิจารณา และในครั้งนี้จะเป็นการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก รวมทั้งอาจจะมีการให้ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอคำแถลงต่อองค์คณะตุลาการ
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร รวม 28 สถานี
ลุ้นสภา กทม.เคาะหนี้สายสีเขียว
นายคีรี กล่าวว่า สำหรับปัญหาหนี้สินคงค้างระหว่างภาครัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณจ่ายในสัญญาว่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยมั่นใจว่า กทม.จะผลักดันเรื่องนี้ และจะจ่ายหนี้คงค้างก้อนนี้ตามที่เคยหารือไว้ เพราะเป็นหนี้ที่มีสัญญาว่าจ้างถูกต้อง และบริษัทได้ดำเนินการลงทุนตามสัญญากำหนด
ขณะที่ภาระหนี้ก้อนใหญ่เกี่ยวกับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมพิจารณา เพราะเรื่องอยู่ในกระบวนการศาลปกครองแล้ว อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันได้รับทราบตัวเลขหนี้ที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องส่งมอบให้ ครม.ใหม่พิจารณา ก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อเรื่องนี้ ให้มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง แต่ในฐานะผู้ให้บริการ ขอยืนยันว่าจะให้บริการประชาชน โดยไม่ให้ได้รับผลกระทบ
คาดค่าโดยสารสายสีชมพู 15-45 บาท
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ปัจจุบันงานโยธาคืบหน้าไปแล้วกว่า 97% เบื้องต้นจึงคาดว่าจะสามารถเปิดทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีในเดือน ก.ย.-ต.ค.2566 ก่อนเปิดบริการเชิงพาณิชย์ จัดเก็บค่าโดยสารในเดือน พ.ย.2566 ซึ่งภาพรวมของโครงการจึงถือว่าเร็วกว่าแผนกำหนดไว้ ส่วนราคาค่าโดยสารเบื้องต้ยประเมินว่าใกล้เคียงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้น 15-45 บาท
“หลังจากทดสอบเดินรถในวันนี้ ก็พบว่าโครงการมีความพร้อม งานก่อสร้างช่วงหลักสี่-มีนบุรี แล้วเสร็จเกือบหมดแล้ว มีเพียงช่วง 3 สถานี ตั้งแต่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และสถานีแจ้งวัฒนะ 14 ที่ยังติดปัญหาสถานีขึ้นลง เพราะต้องรอให้การไฟฟ้านำสายไฟลงดินให้แล้วเสร็จ แต่เรามั่นใจว่าจะแล้วเสร็จทัน พร้อมเปิดให้บริการตามเป้าหมาย พ.ย.นี้”
ขณะที่ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ปัจจุบันงานโยธาแล้วเสร็จกว่า 20% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วกว่าแผนกำหนดไว้ให้เปิดในกลางปี 2568 โดยรถไฟฟ้าสายนี้มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร
สายสีชมพูเชื่อมรถไฟฟ้า 4 สาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยระบุว่า โครงการนี้เป็นไปตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.2561 และแล้วเสร็จในปี 2566 แม้จะใช้เวลาในการก่อสร้าง แต่เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งเป้าหมายหลักคือการสร้างจุดเชื่อมต่อระบบรางให้ไร้รอยต่อ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของไทยที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมือง
ทั้งนี้ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการ 30 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่
1.รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี
2.รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่
3.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
4.รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี