แรงงานจ่อ 'รีด' เพิ่มหลังยอดประกันสังคมวูบ
กองทุนประกันสังคมเป็นหนึ่งในความเสี่ยงทางการคลังโดยเงินกองทุนประกันสังคมปี 65 ปรับตัวลดลงกว่า 1.76 หมื่นล้านบาทจากปี 64 รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท แรงงานเล็งปรับฐานเพดานค่าจ้างขั้นสูง คำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนนำส่งกองทุนมากขึ้น
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงทางการคลังเป็นระยะๆโดยนอกเหนือจากการประเมินความเสี่ยงทางการคลังด้านรายได้รายจ่ายและหนี้สาธารณะแล้ว ยังได้ประเมินความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกองทุนประกันสังคมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังต่อรัฐบาลและควรมีการติดตามอย่างต่อเนื่องและอย่างใกล้ชิด
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2565 กองทุนประกันสังคมมีเงินรวมอยู่ที่ 2.361 ล้านล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ที่มีอยู่ที่ 2.379 ล้านล้านบาท สาเหตุการลดลงมาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Mark to market) ของเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมที่ลดลง ประกอบกับรายได้จากเงินสมทบลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จากมาตรการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ40
ในขณะที่ รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีป่วยยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 นอกจากนี้ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนในอนาคตปัจจุบันกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมซึ่งมีสาระสำคัญในการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ การปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินนำส่งประกันสังคมของลูกจ้างและนายจ้างให้สูงกว่าปัจจุบันจะทำให้การจ่ายเงินนำส่งกองทุนของลูกจ้างและนายจ้างสูงขึ้น ทำให้กองทุนมีเงินไหลเข้ามากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคมจำนวน 7.03 หมื่นล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565) ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย
ทั้งนี้ กองทุนมีการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือ 1 % ของค่าจ้างผู้ประกันตนจากปกติอยู่ที่ 5% ของค่าจ้างที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 2565 และในอัตรา 3% ในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2565
ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แรงงานที่ลาออกจากสมาชิกตามมาตรา 33 มาเข้าสู่สมาชิกมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคมลดการจัดเก็บเหลือเดือนละ 91 บาท (จากปกติ 432 บาทต่อเดือน) ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 2565 และจัดเก็บในอัตราเดือนละ 240 บาท ในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2565
ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงานเปิดให้แสดงความคิดเห็น เรื่อง “ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ...” ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย www.law.go.th ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่ผ่านโดยจะนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายตามข้อเสนอแนะ โดยเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
โดยเนื้อหาเชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ...” เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และมีความเหมาะสม
ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปรับฐานสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท กำหนดอัตราใหม่ ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท
ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท
ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย, เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ, เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร, เงินสงเคราะห์กรณีตาย, เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน, เงินบำนาญชราภาพสำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ