เปิดแผน 'พลังงาน' อุ้มดีเซล หลัง 'คลัง' ไม่ต่อลดภาษี
‘พลังงาน’ เปิดแผนรับมือพยุงราคาดีเซล หลัง “คลัง” ไม่ต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เร่งสื่อสารประชาชนปรับตัวรับมือหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า ล่าสุดกองทุนน้ำมันติดลบรวม 52,270 ล้าน พร้อมเปิดแผนชัดเจนสัปดาห์หน้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา รับทราบแนวทางการดำเนินมาตรการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป รัฐบาลจะไม่ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรแล้ว และให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เตรียมแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ตามแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน โดยใช้กลไกสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เป็นตัวตั้ง ซึ่งคาดว่าจะหารือให้ได้ข้อสรุปที่มีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลนั้น เกิดขึ้นจากปัญจัยหลักคือ ปริมาณดีมานด์และซัพพลายที่ไม่เหมาะสมจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องปิดประเทศ ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจึงได้ลดน้อยลง ส่งผลให้กลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลง และเมื่อโควิดคลี่คลายลง เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจึงปรับขึ้นทันที ส่งผลกระทรบต่อราคาที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำฯ พยุงราคาน้ำมันเข้ามาอุ้มภาระสูงสุดถึงลิตรละ 14 บาท และบัญชีติดลบทะลุ 1.3 แสนล้านบาท
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมโดยกระทรวงการคลังเข้ามาร่วมดูแลเพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศราคาไม่สูงเกินลิตรละ 35 บาท ผ่านมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร และใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศไทยราคาต่ำกว่าหลายประเทศแต่ปัจจุบันด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ณ วันที่ 13 ก.ค.2566 กองทุนน้ำมันฯ สามารถเก็บเงินในส่วนของดีเซลได้ 3.82 บาทต่อลิตร ดังนั้นกองทุนอาจนำเงินที่เก็บได้ในส่วนของดีเซลนี้ไปช่วยเป็นส่วนลดทดแทนภาษีที่หมดอายุลง และหากราคาน้ำมันผันผวน จนสร้างความเดือดร้อนต่อการดำรงชีพของประชาชน โดยปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลเรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร เนื่องจากได้รับส่วนลดภาษีประมาณ 4.65 บาทต่อลิตร จากอัตราภาษีก่อนได้รับส่วนลดอยู่ที่ 5.99 บาท
ทั้งนี้ หากต้องคืนภาษี 4.65 บาทต่อลิตร โดยที่ไม่มีการอุดหนุนใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2566 เป็นต้นไป ราคาขายปลีกดีเซลจะปรับขึ้นทันที 4.65 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 36.59 บาทต่อลิตร หรือเกือบ 37 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันราคาขายปลีกดีเซลหน้าปั๊มอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ดังนั้น จากวงเงินกู้และการจัดเก็บเงินเข้าบัญชี อาจทำให้กองทุนน้ำมันฯ จะสามารถอุ้มราคาดีเซลที่ 31.94 บาทต่อลิตร ในระดับ 3 เดือน
"ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ชำระหนี้ให้ผู้ค้ามาตรา 7 ไปแล้วประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาทที่ใช้เงินอุดหนุนราคาดีเซลไปก่อนหน้านี้ ทำให้เหลือเงินกู้อีกประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันได้จากเงินกู้ที่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลไว้ได้ 3 เดือน บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยยังเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท”
นอกจากนี้ หลังจากประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่แล้ว จะเป็นช่วงปลายปีนี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในหลายประเทศจึงมีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูง ประกอบกับซาอุดิอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตลง เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวขึ้น ดังนั้นปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกขณะนั้นเป็นหลัก
"จะต้องดูว่ากองทุนน้ำมันฯ จะสามารถรักษาระดับราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตรไปได้นานแค่ไหน อีกทั้ง ต้องติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สัปดาห์หน้า ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คาดไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอ่อนตัวลงหรือไม่อย่างไร"
สำหรับฐานะกองทุน ณ วันที่ 9 ก.ค.2566 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบลดลงเหลือ 52,270 ล้านบาท จากที่เคยติดลบสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบลดลงเหลือ 6,598 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ติดลบลดลงเหลือ 45,672 ล้านบาท
ทั้งนี้ กบน. ได้จัดทำสมมติฐานเพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ทั้งรูปแบบการลดภาษีดีเซลและไม่ลดภาษีดีเซล แบ่งเป็น หากราคาดีเซลตลาดโลกอยู่ที่ราคาระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ ประกอบด้วย
1. กรณีไม่ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรจะยังสามารถรักษาระดับราคาดีเซล 32 บาทต่อลิตร ได้ เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันยังสามารถเก็บเงินดีเซลเข้าบัญชีราว 4-5 บาทต่อลิตร ในระยะเวลา 3-4 เดือน
2 กรณีรัฐบาลต้องการให้ลดราคาดีเซลต่ำกว่า 32 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะต้องใช้นโยบายภาษีเข้ามาร่วมดูแลด้วย เช่น หากต้องการเห็นดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็จะต้องลดภาษีต่ออีก 2 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินเก็บเข้าบัญชีเพื่อเสริมสภาพคล่อง
3. กรณีลดการจัดเก็บเข้าบัญชีดีเซล จากปัจจุบันที่เก็บเข้าระดับ 4 บาทต่อลิตร ถือว่ายังมีความผันผวน จากเมื่อต้นเดือนเก็บได้กว่า 5 บาท และมีบางสัปดาห์เก็บได้ 3 บาทกว่า ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลเข้าเฉลี่ยราวเดือนละ 10,000 ล้านบาท จากยอดการใช้ดีเซลราว 60-70 ล้านลิตรต่อวัน
4. กรณีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งเกินกว่ากรอบที่คาดการณ์ไว้ อาจจะพิจารณาการกู้เงินเพิ่มตามกรอบได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อกู้ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่ได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท รวมถึงการขอให้บรรจุเพื้มอีก 40,000 ล้านบาท เป็นต้น