'แหลมฉบังเฟส3' สู่ 'ท่าเรือสีเขียว' โครงสร้างพื้นฐานรับความท้าทายในอนาคต

'แหลมฉบังเฟส3' สู่ 'ท่าเรือสีเขียว'  โครงสร้างพื้นฐานรับความท้าทายในอนาคต

รัฐบาลดันท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นท่าเรืออัจฉริยะสีเขียว วาง 3 แนวทางลดการปล่อยคาร์บอน - ใช้เชื้อเพลิงสะอาดในโครงการ คาดสร้างเม็ดเงินให้ผู้ประกอบการในซัพพายเชนรถไฟฟ้า และแบตเตอรี่ได้ไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นล้าน ส่วนสถานะก่อสร้างปัจจุบันล่าช้า 2 ปีจากการถมทะเลล่าช้า

 ธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม อาจเป็นความขัดแย้งเมื่อในอดีตแต่ปัจจุบัน สองสิ่งนี้คือการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อเร็วๆนี้ศูนย์วิจัย “Krungthai COMPASS” ธนาคารกรุงไทยได้วิเคราะห์ว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ของท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ว่าจะสามารถช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อย1.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 600 ล้านบาทในช่วงปี 2567-2578

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เดินหน้าไปได้ตามแผนเพื่อแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในอนาคต

\'แหลมฉบังเฟส3\' สู่ \'ท่าเรือสีเขียว\'  โครงสร้างพื้นฐานรับความท้าทายในอนาคต

วางแผนลดใช้พลังงาน - ลดการปล่อยคาร์บอน 

โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือ 3 ด้าน คือ 

1.การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) โดยหากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี

2. การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.1% CAGR ในปี 2579 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e

3. การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟ โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ทำให้แหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1.2 พันล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางรางของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท

โครงการล่าช้า 2 ปี จากการถมทะเลล่าช้า

บริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานคือบริษัท จีพีซีอินเตอร์เนชั่นแนลเทอร์มินอลจำกัด(GPC)เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกัลฟ์บริษัทพีทีทีแทงค์เทอร์มินัลจำกัดหรือPTT TANK และบริษัทเชคโอเวอร์ซีอินฟราสตรัคเจอร์โฮลดิ้งจำกัด ระยะเวลาได้รับสัมปทาน 35 ปี โดยมีกำหนดการเปิดให้บริการในปี 2570 ล่าช้ากว่าแผนเดิมไปประมาณ 2 ปี เนื่องจากติดขัดในขั้นตอนของการถมทะเลที่ล่าช้ากว่าแผนไปมาก

นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มกัลฟ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 40% กลุ่ม ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 30% และ CHEC OVERSEA ถือหุ้น 30% โดย กทท.อยู่ขั้นตอนเตรียมพื้นที่และคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือเริ่มทำงาน (NTP) ได้ภายในปี 2568 และหลังจากนั้นเอกชนคู่สัญญาจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนของโครงสร้างหน้าท่าเทียบเรือ

 

เป้าหมาย  Green Port ตามโมเดลพัฒนาท่าเรือรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

ส่วนแนวทางการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะมีเป้าหมายการพัฒนาให้เป็น Green Port โดยมีการนำโมเดลพัฒนาท่าเรือรอตเตอร์ดัม เพื่อไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่เน้นใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนและการต่อยอดพัฒนาสู่การใช้และผลิต Green Hydrogen ซึ่งจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็น Green Port 100% แห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้จะต้องใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มาบริหารจัดการจราจร และของเสียจากกิจกรรมต่างๆของท่าเรืออีกด้วย

การลงทุนในระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง เพื่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนไม่ใช่แค่การที่ไทยจะได้มีท่าเรือสีเขียวเท่านั้นและองค์ประกอบรวมอื่นๆจะได้ประโยชน์จากการลงทุนนี้แบบเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน