EDS ลุยธุรกิจ DC Fast Charger ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย
"EDS" บริษัทในกลุ่ม "กฟผ." ลุยธุรกิจ DC Fast Charger เร่งผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย ขับเคลื่อนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสู้เป้า 30@30 ประเทศ
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวแบบก้าวกระโดด หลังจากที่ภาครัฐมีมาตรการอุดหนุนราคายานยนต์ไฟฟ้าผ่านค่ายรถครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งภาครัฐกำลังเตรียมมาตรการสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้ราคาแบตเตอรี่ในประเทศลดลง และจะทำให้ EV Ecosystem สมบูรณ์มากขึ้น
นายนัฐวุธ พิริยะจิตตะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด (EDS) กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. มีความตั้งใจในการขยายสถานีชาร์จและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ (EV Ecosystem) และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถอีวี ตามเทรนด์ของรถอีวีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยการพัฒนาเครื่องชาร์จอีวีแบบชาร์จเร็วเพื่อช่วยตอบโจทย์นโยบาย 30@30 รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 ของประเทศ อีกทั้งงส่งเสริมการขยายไลน์ธุรกิจของ EDS นอกจากธุรกิจดูแลอุปกรณ์ เครื่องจักร อะไหล่ของโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ สู่ธุรกิจ EV ซึ่งล่าสุดสามารถผลิตเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว หรือ DC Fast Charger สัญชาติไทย แต่การันตีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนด้านธุรกิจ EV เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศไทยในอนาคต
เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วขนาด 120 กิโลวัตต์ และ 150 กิโลวัตต์ ที่ผลิตโดย EDS นอกจากเป็นเครื่องชาร์จฝีมือคนไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล International Electrotechnical Commission (IEC) หรือ IEC61851 จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) เป็นรายแรกของไทยแล้ว ยังโดดเด่นด้วยคุณภาพ อาทิ
หัวชาร์จและอุปกรณ์มีความเสถียร แต่ราคาจับต้องได้ EDS เลือกใช้หัวชาร์จและส่วนประกอบต่าง ๆ จากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานระดับโลก ทำให้สามารถชาร์จไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว มีความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้าและเชื่อถือได้สูง จึงปลอดภัยต่อทั้งตัวรถและผู้ใช้อีวี ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าเครื่องชาร์จจากยุโรปถึง 20% และมีราคาใกล้เคียงกับเครื่องชาร์จจากจีน
รูปลักษณ์ทันสมัย รองรับรถทุกยี่ห้อ เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วถูกออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัย เหมาะกับสถานีชาร์จแบบต่าง ๆ และผ่านการทดสอบชาร์จจริงกับรถยนต์ไฟฟ้าของยุโรปและจีน
บริการหลังการขาย ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างทันท่วงที สามารถติดตามปัญหาการทำงานของเครื่องชาร์จแบบเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้าแก้ปัญหาหน้างานได้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งทีมตรวจเช็คสภาพการใช้งานทุก 6 เดือน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วที่ผลิตโดย EDS ใช้งานจริงที่สถานีชาร์จ EleX by EGAT โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางบนถนนสายหลักของถนนพหลโยธินจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดในภาคเหนือและอีสาน
โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 นี้ EDS ตั้งเป้าผลิต DC Fast Charger ประมาณ 23 เครื่อง สำหรับติดตั้งภายในสถานี EleX by EGAT ทั้งในพื้นที่ของ กฟผ. และเอกชน นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็น EDS พัฒนาต่อยอดเครื่องชาร์จสำหรับรถบัสและรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยร่วมกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. วางแผนการตลาดเพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว
“EDS เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จในการพัฒนา DC Fast Charger ฝีมือคนไทยในครั้งนี้ จะเป็นบันไดก้าวสำคัญในการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ขับเคลื่อนสู่ธุรกิจ New S Curve และสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า EV Ecosystem ของประเทศอย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะฝากถึงภาครัฐ คือ การต่ออายุนโยบายรถอีวี ทั้งในเรื่องของส่วนลดและมาตรการด้านภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาครัฐเองต้องสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้เปลี่ยนมาใช้รถอีวีมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. ได้เปลี่ยนมาใช้รถอีวีแล้วเช่นกัน โดย EDS พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในส่งเสริม EV Ecosystem ของประเทศ เติมเต็มความสะดวกสะบายให้กับผู้ใช้รถอีวีมากยิ่งขึ้น
สำหรับ EDS เกิดจากการร่วมทุนของ กฟผ. 45%, มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ในเอเชียแปซิฟิก (MPW-AP) 30% มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (MC) 15% และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 10% ตั้งเป้ารายได้รวมสิ้นปีนี้ 350 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจชาร์จอีวีครึ่งปีหลังนี้ราว 35 ล้านบาท