ม.หอการค้า ประเมินส่งออกไทยครึ่งหลังปี 66 ยิ่งหดตัว หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า

ม.หอการค้า ประเมินส่งออกไทยครึ่งหลังปี 66 ยิ่งหดตัว หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า

ศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ชี้ส่งออกไทยครึ่งหลังปี 66 ยิ่งเสี่ยงหนักหากจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเลยเดือนส.ค. คาดหดตัว 2.5% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยเฉพาะจีน เอลนีโญ เฟดขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินผันผวน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตสูง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยทั้งปี 2566 และครึ่งหลังของปี 2566 ภายใต้สถานการณณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่ต้องติดตามต่างๆ โดยผลการวิเคราะห์แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

กรณีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ภายในเดือนส.ค. 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกทั้งปี2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ 283,738 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว -1.2 % สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 142,244 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 3.1% 

กรณีที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือนส.ค. 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าเท่ากับ  279,891 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว -2.5% สำหรับครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 138,398 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 0.3%

“การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะหดตัวที่ 1.2% ซึ่งถือเป็นการหดตัวในรอบ 3 ปี ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลอย่างมากในการกำหนดทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากยิ่งได้รัฐบาลเร็วก็จะมีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการกำหนดทิศทางการส่งออกและการเจรจาการค้า”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยที่ต้องติดตามที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจโลก และคู่ค้าสำคัญชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยซึ่งอาจโตไม่ถึง 5% 

3. การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

4. อัตราการว่างงานของประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง

5. ค่าเงินที่ผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ทรงตัวในระดับสูง อยู่ที่ 5.0-5.25% และมีโอกาสปรับขึ้นอีกเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในกรอบ 2%

6. ปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยประเมินว่าจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัว 2.7-10.9% หรือคิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ 25,000-99,809 ล้านบาท 

7. ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก 

นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่

1. ต้นทุนการผลิตของไทยที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน และค่าจ้าง

2. เงินเฟ้อ (Inflation) เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในหลายประเทศหลัก หรือภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) ราคาสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

3. สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังต้องจับตา ทั้งจีน-สหรัฐ จีน-ไต้หวัน ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งสร้างความผันผวนและไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจโลก นำไปสู่การแบ่งขั้ว (Decoupling) ของห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศหรือการลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์ (De-Dollarization) ซึ่งไทยจะต้องเตรียมตัวในการค้าขายกับประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตรของสหรัฐ