“อาคม”สั่งสศค.เกาะติดปิดบัญชีหนี้ม.28 สร้างพื้นที่การคลังให้รัฐบาลใหม่

“อาคม”สั่งสศค.เกาะติดปิดบัญชีหนี้ม.28 สร้างพื้นที่การคลังให้รัฐบาลใหม่

“อาคม”สั่งสศค.เกาะติดปิดบัญชีหนี้ตามมาตรา 28 เพื่อให้รัฐบาลใหม่มีวงเงินนอกงบประมาณในการใช้จ่ายมากขึ้น รับที่ผ่านมายอดใช้จ่ายสูง เหตุจำเป็นช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงโควิด ขณะที่ กรอบวงเงินใช้จ่ายควรกลับไปอยู่ทึ่ 30%เพื่อรักษาวินัยการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีที่วงเงินการใช้จ่ายตามมาตรา28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเหลือเพียง 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ โดยกล่าวยอมรับว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด รัฐบาลมีความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ โดยดำเนินการผ่านแบงก์รัฐต่างๆทำให้วงเงินในการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ลดลง

 

“เราจำเป็นต้องช่วยเหลือทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ซี่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด เมื่อเราใช้แบงก์รัฐเข้าไปช่วย ทั้งบสย. ธ.ก.ส. เราก็ต้องตั้งงบประมาณไปชดเชยให้”

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการคลังก็ได้มีนโยบายเร่งรัดให้ทุกโครงการที่ดำเนินการโดยใช้ม.28 ได้เร่งปิดโครงการและชำระคืนเงิน เพื่อให้กรอบวงเงินในการใช้จ่ายตามม.28 นั้น มีเพียงพอที่จะใช้จ่ายในโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เป็นหน่วยงานที่คอยติดตามความคืบหน้าการปิดบัญชีของแต่ละโครงการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเองก็ได้มีนโยบายในการใช้หนี้แก่แบงก์รัฐที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังดังกล่าว โดยขอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบชำระคืนประมาณ 3.5-4% ของวงเงินในโครงการ

เขากล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน กรอบวงเงินการใช้จ่ายตามม.28 ปัจจุบันอยู่ที่ 32% ซึ่งลดลงจากเดิมที่รัฐบาลชุดนี้ขอขยายเป็น 35%ในช่วงโควิด แต่นับจากนี้ มองว่า วงเงินดังกล่าวควรกลับไปอยู่ที่ 30% เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประเมินความสามารถในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลทั้งในส่วนของการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ตามกรอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ เพดานการก่อหนี้สาธารณะ พบว่า  รัฐบาลเหลือพื้นที่การใช้จ่ายค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการใช้จ่ายตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังโดยขณะนี้ ถือว่า ใกล้เต็มเพดานที่ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินมาตรการใดๆของรัฐบาลที่จะใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 ดังกล่าว

ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ภาระผูกพันจากการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 ของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.5% ของงบประมาณรายจ่าย และ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2566 วงเงินคงเหลือตามมาตรา28 อยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท จึงอาจไม่เพียงพอที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2567 อาจมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตรายอดคงค้างจาก 32% เป็น30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคตและสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากหน่วยงานจากรัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องสำรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน รัฐบาลจึงควรดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น และจัดลำดับความสำคัญโครงการ โดยโครงการใดที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปีและวางแผนล่วงหน้าได้ ก็ควรพิจารณาบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่าย