เงินเฟ้อ เงินฝืด วิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เงินเฟ้อ เงินฝืด วิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

สัปดาห์ที่ผ่านมา พัฒนาการใน 3 เศรษฐกิจสำคัญเป็นไปตามผู้เขียนกังวลมากขึ้น คือ (1) ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐลดลงมาก แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งจะกดดันความตึงตัวทางการเงินมากขึ้น

(2) เงินเฟ้อผู้บริโภคจีนที่กลับมาไม่เติบโตอีกครั้ง (ขยายตัว 0%) ขณะที่เครื่องชี้วัดอื่น ๆ บ่งชี้ว่ากำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะ GDP ไตรมาส 2 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก

และ (3) การเมืองไทยเริ่มเข้าสู่ทางตัน หลังสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบ 323 เสียงให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีต่ำกว่าที่ต้องการที่ 376 เสียง

ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัตินายพิธา กรณีถือหุ้นไอทีวี ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องหาเสียงแก้ ม.112 ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองหรือไม่

ทั้งสามเหตุการณ์จะนำไปสู่

(1) ความตึงตัวทางการเงินในสหรัฐ กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และการล้มละลายของธุรกิจและประชาชนสหรัฐ

(2) วังวนเงินฝืดในจีน กระทบเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ผู้ผลิตจะส่งผ่านภาวะเงินฝืดเข้าสู่ทั่วโลกผ่านราคาที่ลดลง และ

(3) ภาวะสุญญากาศทางการเมืองจะรุนแรงขึ้น กระทบการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนในไทย

ในส่วนของเหตุการณ์แรกนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ลดลงต่ำกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 3.0% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายรวมถึงผู้เขียนคาดจาก (1) ฐานปีที่แล้วที่สูง (2) การลดลงมากของราคาเชื้อเพลิง

เงินเฟ้อ เงินฝืด วิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

และ (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมที่ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อทุกตัวลดลง รวมถึงเงินเฟ้อจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 4.8% ชะลอลงเช่นกัน

เมื่อผู้เขียนไปแกะไส้ในเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดที่ 3.0% นั้น พบว่า มีองค์ประกอบหลักจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน เช่น ค่าเช่า (โดยมี Contribution to CPI Inflation ถึง 2.8%) ส่วนที่เหลือได้แก่เงินเฟ้อจากค่าจ้างเป็นหลัก (ประมาณ 0.2%) ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ ไม่มีผลต่อเงินเฟ้อในเดือนนี้อย่างมีนัยสำคัญ

เงินเฟ้อทั้งสองส่วน (ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านและค่าจ้าง) นี้ แม้มีแนวโน้มลดลงต่อ แต่ก็ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้เขียนมองว่า เงินเฟ้อในช่วงที่ เหลือของปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3% ไม่ลดลงมากจากระดับปัจจุบัน

และด้วยเงินเฟ้อที่ชะลอตัวกว่าคาด แต่จะคงอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่ Fed ส่งสัญญาณแรงกล้าว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทำให้ผู้เขียนปรับประมาณการว่าดอกเบี้ยจะขึ้นอีก 1 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. (ไปอยู่ที่ 5.38% จาก 5.13% ในปัจจุบัน) และคงไปจนถึงเดือน พ.ย.

ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) เป็นบวกมากขึ้น โดยขึ้นไปอยู่ระดับเดียวกันกับก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าว จะกดดันเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ในฝั่งของเศรษฐกิจจีน เงินเฟ้อผู้บริโภคจีนไม่ขยายตัว จากที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.2% ส่วนเงินเฟ้อผู้ผลิตหดตัวมากขึ้นที่ -5.4% ส่งสัญญาณความเสี่ยงเงินฝืด และเมื่อประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ

โดยเฉพาะการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ของจีน ที่เพียง 6.3% ต่อปี ผิดกับที่ผู้เขียนคาดที่ 7.1%  ขณะที่ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. ชะลอลงมากที่ ลงเหลือ 3.1% ต่อปี จาก 12.7% ในเดือนก่อน ส่วนการลงทุนรวมชะลอแรงขึ้น ส่วนการลงทุนอสังหาฯ หดตัวต่อเนื่อง

ตัวเลขต่าง ๆ บ่งชี้ว่า จีนกำลังเข้าสู่ภาวะวงจรเงินฝืด โดยเฉพาะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% บ่งชี้ว่านักศึกษาจบใหม่กว่า 1 ใน 5 จะตกงาน

ซึ่งภาพเช่นนี้จะทำให้ชาวจีนวิตกกังวลมากขึ้น ชะลอการบริโภคและเก็บเงิน แม้รัฐบาลจะลดดอกเบี้ยแล้ว และอาจลดต่ออีกก็ตาม

เมื่อประชาชนเก็บเงิน ก็จะใช้จ่ายน้อยลง ไม่กล้าซื้ออสังหาฯ และทำให้ราคาอสังหาฯ ตกต่ำต่อเนื่อง กระทบไปสู่ภาคเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ก่อสร้าง และผู้ผลิตวัตถุดิบด้านการก่อสร้าง

เงินเฟ้อ เงินฝืด วิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

และกระทบชิ่งไปสู่รัฐบาลท้องถิ่น ที่มีรายได้หลักจากการขายที่ดินให้ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ ไปทำโครงการใหม่ เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้น้อยลง ก็จะมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น กระทบต่อภาคธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้

ในทางกลับกัน เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้น้อยลง ก็ไม่กล้าออกพันธบัตรใหม่เพื่อกู้เงินจากประชาชนมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก

ทำให้เครื่องมือเศรษฐกิจทั้งสองของรัฐบาลจีน คือ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง มีปัญหา ภาพเหล่านี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจจีนแย่ยาวนานขึ้น

ในฝั่งของไทย สัญญาณทางการเมืองเป็นไปอย่างที่ผู้เขียนกังวลมากขึ้น และเชื่อว่า กว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการได้ ก็จะเป็นในเดือน ก.ย.-ต.ค. ล่าช้ากว่า Timeline ของ กกต. ในเดือน ส.ค. ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐและการบริหารราชการแผ่นดิน นำไปสู่ภาวะ "นโยบายการคลังตึงตัวทางพฤตินัย"

โดยนอกจากจะกระทบต่อกระบวนการจัดทำงบประมาณให้ล่าช้าไปถึง 2-3 ไตรมาสแล้ว ยังกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ให้ชะลอลง

เนื่องจากโครงการใหญ่ ๆ อาจต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและลงทุน ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และกระบวนการภาครัฐอื่น ๆ ในระยะต่อไป

ที่สำคัญคือ ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจเริ่มกังวล และเข้าสู่ Wait and See Mode โดยเริ่มจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง

ทำฉากทัศน์สำรองกรณีเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงมีกลยุทธ์บริหารต้นทุนทางการเงิน ตัดต้นทุนดำเนินธุรกิจที่ไม่จำเป็นซึ่งรวมถึงไม่ลงทุนต่อท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น

เงินเฟ้อ เงินฝืด วิกฤติ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ขณะที่การจับจ่ายของประชาชนก็จะลดลง โดยเฉพาะการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เช่น อสังหาฯ รถยนต์ หรืออื่น ๆ เนื่องจากความกังวลในรายได้ในอนาคต ซึ่งสะท้อนจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่มองว่าในปีนี้ ยอดขายและยอดโอนอาจหายไปกว่า 10-20% โดยจะรุนแรงในไตรมาส 3

ในส่วนการท่องเที่ยว หากความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงไปจนถึงไตรมาส 4 ซึ่งเป็น High Season ก็จะกระทบกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะกังวลต่อความปลอดภัย ทำให้กระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ที่แทบเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

เศรษฐกิจโลกกำลังจะเปลี่ยนจากโหมดเงินเฟ้อเป็นเงินฝืด ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญวิกฤติการเมืองหรือไม่ ฟ้าเท่านั้นที่รู้

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

คอลัมน์ : Global Vision  

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ฝ่ายวิจัยการลงทุน 

บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

[email protected]