เปิด 10 นโยบายเศรษฐกิจ “พรรคเพื่อไทย” เพิ่มรายได้ – ลดหนี้ - สร้างโอกาสธุรกิจ

เปิด 10 นโยบายเศรษฐกิจ “พรรคเพื่อไทย” เพิ่มรายได้ – ลดหนี้ - สร้างโอกาสธุรกิจ

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประเทศ รวมทั้งมีการวางตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ และประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจคือ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนักธุรกิจชื่อดังที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังจากพรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 ไม่สามารถรวมเสียงในรัฐสภาได้เพียงพอโอกาสจึงมาเป็นของพรรคอันดับ 2 ที่ชนะการเลือกตั้งคือพรรคเพื่อไทย “กรุงเทพธุรกิจ” พาไปดูข้อเสนอ นโยบายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นตัวเต็งในการจัดตั้งรัฐบาล และมีโอกาสสูงที่แคนดิเดตฯจากพรรคจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

10 นโยบายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ที่น่าสนใจดังนี้

1.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผ่านโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท เติมเงินให้ทุกคนระบบ ใช้จ่ายใกล้บ้านผ่าน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตรในร้านค้าชุมชน โดยแนวคิดคือการ “ใช้จ่ายใกล้บ้านด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)” โดยให้กับคนไทยทุกคนที่มาอายุ16 ปีขึ้นไป

กระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนสำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยโครงการนี้พรรคตั้งใจให้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระยะยาวเพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech ให้ประเทศ

2.นโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน พรรคเพื่อไทยมีนโยบายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 โดยมีแผนที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยการเพิ่มค่าแรงยังใช้กลไกของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ)  โดยการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)  ผลิตภาพแรงงาน (Productivity) และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ส่วนเงินเดือนของคนที่จบปริญญาตรีขึ้นไปทั้งเอกชน และภาครัฐเริ่มต้น 25,000 บาท/เดือน ในปี 2570

3.เพิ่มรายได้ครอบครัว ลดช่องว่างรายได้ โดยตั้งเป้าหมายทุกครอบครัว มีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท / เดือน ตั้งเป้าลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอ โดยจะมีการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนเพื่อให้ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมไปกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่างๆ ที่สำคัญคือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power (OFOS) หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือนก็จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาท/เดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ

4.แก้หนี้นอกระบบ 1.4 ล้านราย สร้างฟิโกไฟแนนซ์ส่งเสริมการกู้เงินในระบบ โดยให้มีการแข่งขันการปล่อยกู้เงินจากแหล่งเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำและประชาชนเข้าถึงง่าย

5.แก้ปัญหาหนี้ SMEs 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2 แสนล้านบาท โดยเพิ่มการค้ำประกันวงเงินให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องมากขึ้น

 

6.สนับสนุนธุรกิจสมัยใหม่ให้ลงทุนในไทย และ สร้างแรงจูงใจทางภาษี ให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพให้เศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงสร้างตลาดแรงงานรายได้สูง

7.สร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) หรือ “NBZ” โดยนโยบายการสร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ด้วยความพร้อมทางด้านมหาวิทยาลัย สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเพื่อขับเคลื่อน Start-ups และ SMEs สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน ลดการกระจุกตัวของรายได้ในกทม.และเมืองใหญ่

8.เพิ่มรายได้เกษตร 3 เท่า พักหนี้เกษตร 3 ปี  นโยบายเพิ่มรายได้เกษตรกร เป็น “3 เท่าภายในปี 2570” จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี  เพราะทั้งราคา และผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ เมื่อเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายรับ จึงทำให้รายได้เหลือไม่พอต่อการชำระหนี้ และการยังชีพอย่างมีคุณภาพ สร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต รายได้ (สุทธิ) ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 3 เท่าของที่เคยได้รับ

9.นโยบายหวยบำเหน็จ สลากการออม สนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกลไกการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ลุ้นเงินรางวัล และยังได้รับเงินทุกบาททุกสตางค์คืนตอนอายุ 60 ปี สำหรับวงเงินที่ต้องใช้ในนโยบายนี้ พรรคเพื่อไทยประเมินไว้ที่ 800 ล้านบาท พร้อมทั้งระบุว่า ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจะสูงกว่างบประมาณที่ใช้

10.นโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย และขยายเส้นทางระบบราง เพื่อลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชนและส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ โดยพรรคเพื่อไทยประเมินว่า วงเงินที่ต้องใช้ในการดำเนินนโยบายอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท และอีก 8 พันล้านบาทต่อปี การขยายโครงการข่ายระบบราง และนโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ

 

เปิด 10 นโยบายเศรษฐกิจ “พรรคเพื่อไทย” เพิ่มรายได้ – ลดหนี้ - สร้างโอกาสธุรกิจ