'ปัญหาเศรษฐกิจไทย' เยอะเกินไป เยอะเกินกว่าจะรอ 'รัฐบาลใหม่' ได้หลายเดือน
ส่อง 5 ปัญหาไม่เอื้อให้ไทยรอรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้นาน พบกระทบทั้งการจัดทำงบประมาณ การแต่งตั้งข้าราชการ การแก้ปัญหาการส่งออก ลดค่าครองชีพให้ประชาชน ที่รัฐบาลรักษาการแก้ไขให้ไม่ได้ทั้งหมด เอกชนห่วงกระทบเชื่อมั่นฉุดจีดีพีประเทศ 1- 2%
นับตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมากินระยะเวลากว่า 1 เดือนครึ่งที่การตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จสิ้น พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยต้องรวบรวมเสียงทั้งจากสภาทั้งจาก สส.และสว.ให้ได้ 375 เสียงจึงจะสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ จนนำไปสู่การตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่มาบริหารประเทศได้
ในระหว่างการที่พรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมเสียงโหวตให้ได้ตามเป้าหมาย ก็มีข้อเสนอให้รัฐบาลปัจจุบันรักษาการไปอีก 10 เดือน จนถึงเดือน พ.ค.ปีหน้า โดยข้อเสนอนี้มาจาก กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม โดยระบุว่าเพื่อให้ สว.ไม่สามารถร่วมโหวตนายกฯได้เนื่องจากหลัง พ.ค.2567 สว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ ทำให้อำนาจตามบทเฉพาะกาลที่อยู่ในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะสิ้นสุดลงไปด้วย ซึ่งทำให้การโหวตนายกฯจะไม่ต้องใช้การร่วมโหวตของ สว.
อย่างไรก็ตามแม้ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นข้อเสนอในทางการเมือง แต่นับว่าเป็นข้อเสนอที่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากหากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ การบริหารประเทศต้องดำเนินไปโดย “รัฐบาลรักษาการ” ซึ่งขาดอำนาจเต็มในการอนุมัติ แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศ การเป็นรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการอนุมัติมติที่สำคัญซึ่งจะผูกพันไปยังรัฐบาลใหม่ ขณะที่การมีรัฐบาลช้าก็จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2567 ให้ล่าช้าออกไป
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมปัจจัย และประเด็นปัญหาของประเทศไทยที่รอรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาแก้ปัญหา และตัดสินใจ 5 เรื่อง ดังนี้
1.การจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาอนุมติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนของรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณคาดการว่าการจัดทำงบประมาณจะล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน จากเดิมที่จะประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 ไปเป็นภายในไตรมาส 1 ปี 2567 คือไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.2567 จึงได้เตรียมแผนการใช้จ่ายงบประมาณแบบพลางไปก่อนไว้ 6 เดือน
โดยในช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำงบ พ.ร.บ.งบประมาณใหม่การเบิกจ่ายงบประมาณจะทำได้เฉพาะงบประมาณประจำ (ไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณเดิม) งบประมาณที่ผูกพันไว้แล้ว ส่วนที่เป็นงบประมาณรายการใหม่ โดยเฉพาะงบประมาณในการลงทุนจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งในแต่ละปีมีงบลงทุนใหม่ประมาณ 5 – 6 แสนล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้ก็จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้า
ล่าสุด ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการตั้งรัฐบาลล่าช้าไปถึง 10 เดือน จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณที่จะล่าช้าต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีงบประมาณคือตั้งแต่งบประมาณ 2567 – 2569
2.การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่จะได้รับผลกระทบ หลังสิ้นสุดปีงบประมาณ 2566 จะมีข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการหลายคน เฉพาะในส่วนที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ก็มีปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงพลังงาน ที่จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งตำแหน่งระดับซี 10 - ซี 11 ที่เป็นระดับอธิบดี และปลัดกระทรวง ครม.รักษาการไม่สามารถแต่งตั้งได้ ตามข้อกำหนดรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลรักษาแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการระดับสูง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นแต่ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาก่อน
ซึ่งหลักปฏิบัตินี้ใช้กับการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจด้วย เช่น ที่ผ่านมามีกรณีเสนอชื่อผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่มาเข้า ครม.รักษาการ2 ครั้งแล้วแต่ กกต.ไม่อนุมัติ โดยล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่าให้ส่วนราชการที่มีความจำเป็นเสนอเรื่องเข้ามาที่ ครม.รักษาการ และเมื่อครม.อนุมัติจะส่งให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง หากมีความจำเป็นในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่
3.การแก้ปัญหาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนการขนส่งหลักของสินค้า และเป็นต้นทุนของการขนส่งที่มีคนใช้น้ำมันชนิดนี้กว่า 70 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่เคยลดไป 5 บาทต่อลิตรแล้ว แต่ใช้การบริหารเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถตรึงราคาดีเซลไว้ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็มีความเสี่ยงที่กองทุนน้ำมันฯจะติดลบมีหนี้เพิ่มซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาตัดสินใจในส่วนนี้ว่าจะใช้มาตรการใดในการช่วยเหลือในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้กระทบกับต้นทุนในการขนส่งสินค้าจนกระทบกับประชาชน เช่นเดียวกับราคาค่าไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดปลายปี (ก.ย. - ธ.ค.) จะปรับลดลงได้ตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง แต่หากยังไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในส่วนนี้ต้องดูว่าสามารถที่จะเดินหน้าต่อเนื่องไปได้หรือไม่
นอกจากนั้นยังมีรายการสินค้าหลายรายการที่เริ่มทยอยปรับราคาเพิ่มในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา เช่น ราคาไข่ไก่ ราคาผักสด และราคาน้ำนมสดพร้อมดื่ม (บางยี่ห้อ) เป็นต้น ซึ่งเรื่องราคาสินค้าก็ต้องมีการให้นโยบายจากรัฐบาลใหม่ในหารเข้มงวด กวดขันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า รวมทั้งการประกาศรายการสินค้าควบคุมที่ต้องเอาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่
4.การแก้ปัญหาให้กับภาคเอกชน มีปัญหาของภาคเอกชน และธุรกิจ จำนวนมากที่รอรัฐบาลแก้ไข เช่น ปัญหาเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัวนานหลายเดือนติดต่อกัน ซึ่งการแก้ปัญหาการส่งออกในระยะยาวต้องมองไปถึงการแก้ปัญหาโดยการหาตลาดใหม่ การเร่งรัดการเจรจาการค้า การทำเขตเสรีทางการค้า (FTA) ซึ่ง ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาเดินหน้าเจรจา และลงนามในข้อตกลง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้หากจะมีการลงนามในข้อตกลงหรือสัญญาที่ผูกพันกับต่างประเทศ
และ 5.ผลกระทบที่เกิดกับการลงทุน ซึ่งนอกจากการลงทุนภาครัฐในส่วนที่เป็นโครงการใหม่ๆที่จะบรรจุไว้ในงบลงทุนในปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป ซึ่งโครงการลงทุนใหม่ๆจะต้องเป็นโครงการที่รัฐบาลใหม่เข้ามาอนุมัติการลงทุน การที่ตั้งรัฐบาลช้ากระทบกับความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ กรณีนี้เรียกได้ว่าเกิดภาวะสุญญากาศ ซึ่งจะเกิดการชะงักของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะขาดแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐอาจทำให้จีดีพีของประเทศหายไปถึง 1-2% จากปัญหาขาดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากภาครัฐ