‘คมนาคม’ ดันแผนรถไฟฟ้า เสนอรัฐบาลใหม่นำร่อง 5 เส้นทาง

‘คมนาคม’ ดันแผนรถไฟฟ้า  เสนอรัฐบาลใหม่นำร่อง 5 เส้นทาง

“คมนาคม” เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ ดันแผน M-Map2 พัฒนารถไฟฟ้าสายใหม่ 14 เส้นทาง ครอบคลุม 554 กิโลเมตร นำร่อง 5 เส้นทาง

“ฐานเศรษฐกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “โจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์” วันที่ 26 ก.ค.2566 โดยมีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมนำเสนอทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผังเมืองที่จะมีผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”  โดยระบุว่า เป้าหมายของ กระทรวงคมนาคม คือ การขนส่งสินค้าหรือคนจากต้นทางถึงปลายทางให้สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้ประเทศทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ศึกษาปัญหาของการคมนาคม ครอบคลุมการคมนาคมขนส่งในเมืองและการคมนาคมขนส่งระหว่างเมือง 

นอกจากนี้การผลักดันเป้าหมายปรับพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองนั้น มีแผนทำงานผ่านการเร่งรัดพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าภายใต้แผน M-Map1 ให้แล้วเสร็จ 14 สาย รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยปัจจุบันโครงการภายใต้แผน M-Map1 ทยอยเปิดให้บริการแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายว่าภายในปี 2572 จะแล้วเสร็จเปิดให้บริการคิดเป็น 80% ของแผนทั้งหมด

“หากโครงการรถไฟฟ้า M-Map1 เปิดให้บริการครบตามแผน จะทำให้ประชาชนเดินไม่เกินครึ่งกิโลเมตรและเจอสถานีรถไฟฟ้า เป็นเหมือนกรุงโตเกียว ลอนดอน และนิวยอร์ก ที่การเดินทางระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าในเมืองก็เปิดให้บริการครอบคลุมระยะทางแล้ว 241 กิโลเมตร ทั้งสายสีเขียว สายสีม่วง และสายสีแดง รวมไปถึงสายสีชมพู และเหลือง เป็นใยแมงมุมโครงข่ายรถไฟฟ้าที่สนับสนุนการเดินทางสะดวกขึ้น”

‘คมนาคม’ ดันแผนรถไฟฟ้า  เสนอรัฐบาลใหม่นำร่อง 5 เส้นทาง

นอกจากนี้ ยังมี โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ โมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งจะเป็นฟีดเดอร์เชื่อมทางทิศตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ ใช้ขนส่งคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลักอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเป็นรถไฟฟ้าสายหลักเชื่อมตะวันออกและตะวันตก ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแกนหลักอื่นๆ อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อีกทั้งปัจจุบันยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะขยายแนวเส้นทางมาทิศใต้สิ้นสุดที่ราษฎร์บูรณะ รวมถึงสายสีแดงที่จะขยายเหนือและใต้ของกรุงเทพฯ

‘คมนาคม’ ดันแผนรถไฟฟ้า  เสนอรัฐบาลใหม่นำร่อง 5 เส้นทาง

ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคม ยังมีโครงการที่มีความพร้อมพัฒนาเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติ จำนวน 5 โครงการ อาทิ 

  • สายสีแดงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
  • สายสีแดงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท 
  • สายสีแดงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,616 ล้านบาท 

รวมไปถึงแผนแม่บทรถไฟฟ้า M-Map2 ที่จะขยายการเดินทางรอบนอกกรุงเทพฯ ให้สะดวกมากขึ้น อาทิ เส้นทางต่อขยายจากสถานีบางหว้า-ราชพฤกษ์-บางบำหรุ เป็นต้น

 นายชยธรรม์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาฟีดเดอร์เพื่อสนับสนุนการเดินทางสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าความเหมาะสมของการพัฒนารถโดยสารประจำทางเพื่อขนถ่ายผู้โดยสารมีเป้าหมายพัฒนา 81 เส้นทางต่อ 1 โครงการรถไฟฟ้า รวมไปถึงเส้นทางเรือโดยสารเพื่อผลักดันเป้าหมายการเดินทางล้อ-ราง-เรือ