คลังชี้ตั้งรัฐบาลช้า 6 เดือน จีดีพี 'ทรุด' 0.05%
คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2567 ล่าช้าอย่างมากที่สุด 6 เดือน ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (ตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) สำนักงบประมาณจะออกเกณฑ์ให้ใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พรชัย ฐีระเวช ระบุ คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2567 ล่าช้าอย่างมากที่สุด 6 เดือน ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (ตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) สำนักงบประมาณจะออกเกณฑ์ให้ใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งกรณีที่งบฯ ล่าช้า 6 เดือน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2567 ที่้ 0.05%
ทั้งนี้ ยังคงมองว่ากรณีที่แย่ที่สุดคือ ล่าช้า 6 เดือน ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีก ประเมินเบื้องต้นว่าจะมีผลกระทบส่วนของการลงทุนใหม่ที่ต้องรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ หากกรณีรัฐบาลล่าช้าเกินไปกว่า 9 เดือน จะกระทบจีดีพีที่ 0.07%
โดยในช่วงต้องรอรัฐบาลแม้จะยังไม่มีงบประมาณปี 2567 แต่ยังคงใช้งบประมาณไปพลางจากงบรายจ่ายประจำได้ ซึ่งเมื่อเทียบงบปี 2566 รายจ่ายประจำที่จะออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจล่าสุด รายงานการเบิกจ่าย 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม-มิถุนายน 2566) มียอดเบิกจ่ายแล้ว 2.08 ล้านล้านบาท จึงคาดว่าหากตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปในปีงบประมาณ 2567 ช่วงราว 9-10 เดือนแรก จะมีรายจ่ายประจำราว 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70% ของวงเงินงบประมาณ
ขณะเดียวกัน ยังคงมีงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่มีสัญญาผูกพันถึงปี 2567 ที่ได้ลงนามในสัญญาไว้แล้วราว อีก 1.3 แสนล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ แต่หากมีสัญญาณว่าจะล่าช้าไปมากกว่านี้ สำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวต้องหารือกันอีกครั้ง
หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.5%
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 สศค.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีไทย ปีนี้ลงเหลือ 3.5% ลดลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนเม.ย.ที่คาดขยายตัว 3.6% และ เดือนม.ค.ที่คาดขยายตัว 3.8% ผลจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงและการส่งออกที่ชะลอตัว
เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 3.5 % ลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเมษายนนี้ว่าจะขยายตัว 3.6 % สาเหตุสำคัญมาจากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ คาดว่าจะลดลงจากที่คาดไว้เดิม โดยคาดการณ์ ณ เดือนก.ค.นี้ คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ จะอยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท ลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเม.ย.นี้ อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่าคาดการณ์นั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวลดลง สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องมาจากในช่วงนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยจำนวนมากมาจากมาเลเซีย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่ำกว่านักท่องเที่ยวจีนจนถึงมิ.ย.นี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 12.91 ล้านคน โดยคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 29.5 ล้านคน
ส่วนมูลค่าการส่งออกของประเทศในปีนี้ การคาดการณ์ล่าสุดอยู่ที่ติดลบ 0.8 % จาก 0.5 % เนื่องจากการชะลอตัวของ 15 ประเทศคู่ค้า ส่วนความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่สำนักงบประมาณคาดว่าจะล่าช้ากว่าปกติไป 6 เดือนนั้น คาดกระทบต่อจีดีพีราว 0.05 %
ทั้งนี้ อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุน ในปีงบประมาณ 2566 ณ สิ้นปีงบประมาณนี้ คาดว่า จะเบิกจ่ายได้ 4.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 74% ของงบลงทุนทั้งหมดในปีนี้ ส่วนในปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 4.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 68 % ของงบลงทุนรวม
นอกจากนี้ ยังมีเงินที่อยู่ในกองทุนหมุนเวียนต่างๆ ที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆในประเทศ เช่น เกษตรกร ก็สามารถจัดสรรเงินในกองทุน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรในช่วงนี้ที่อาจเผชิญกับภาวะเอลนีโญ การอัดฉีดเงินให้กับเกษตรกร ก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ