นักธุรกิจต่างชาติเกาะติดการเมือง หวังไทยได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
บริษัทต่างชาติ ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยใกล้ชิด ยืนยันเดินหน้าลงทุนไทยท่ามกลางการเมืองไม่แน่นอน แนะรัฐลุยนโยบายไฟฟ้าเสรีและพลังงานพร้อมสร้างนิเวศธุรกิจโตอย่างยั่งยืน ส.อ.ท.ห่วงทุนต่างชาติรายใหม่ชะลอการลงทุน
การจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อนับตั้งแต่การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนลำดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หลังจากที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
รวมทั้งได้มีการเลื่อนประชุมรัฐสภาออกไป หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าการเสนอชื่อนายพิธา ถือเป็นญัตติซ้ำขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 หรือไม่
นายหลุยส์ บลองโช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม Etix Everywhere ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จากฝรั่งเศส ที่มีลงทุนในประเทศไทยผ่านการดำเนินการของบริษัทลูก ETIX Bangkok#1 กล่าวถึง สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและเข้าใจถึงธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา ซึ่งในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจ เราเข้าใจดีถึงความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย
นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าเพียงผลประโยชน์ของธุรกิจ แต่ยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนไทยและเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยที่เฟื่องฟูมีความจำเป็นต่อการพัฒนาและความรุ่งแรืองของประเทศ ดังนั้นจึงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบไม่ใช่เพียงประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเดินทางของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยด้วย
“บริษัทรับทราบถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเรายังคงเดินหน้าแผนการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าการลงทุนในไทยกว่า 350 ล้านบาทในปีนี้ ตอกย้ำว่าเราเชื่อมั่นและมองเห็นทิศทางที่ชัดเจนว่าไทยจะสามารถเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคนี้ได้”
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่สภาพแวดล้อมการเมืองที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งประชาชนไทยรวมถึงภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีนโยบายในการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยในอนาคตธุรกิจหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินธุรกิจของเราช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงกว่า 35% และยังทำได้มากกว่านี้อีกด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล
“สำหรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจโดยการเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าเสรีและการลงทุนไฟฟ้าพลังงานสะอาดของภาคเอกชนเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มการลงทุนที่ยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในไทยสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนจับตาสถานการณ์การเมืองใกล้ชิด โดยนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติรายเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วกลุ่มนี้อาจรอได้ เพราะคุ้นเคยกับสภาพสังคมและการเมืองไทยเป็นอย่างดี รวมทั้งนักลงทุนจีนที่ประกาศการลงทุนอย่างต่อเนื่องก็ดูจะไม่ค่อยให้น้ำหนักกับการเมืองนัก
อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่เป็นกลุ่ม New S-Curve ไฮเทคโนโลยีที่ไทยต้องการดึงมาลงทุนจากสหรัฐและยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตอาจลังเลและเลือกลงทุนประเทศอื่นแทน เพราะตอนนี้การแข่งขันในภูมิภาคเองมีความร้อนแรง
“หวังให้การเลือกนายกรัฐมนตรีได้ข้อสรุปเร็ว เพื่อให้ตั้งรัฐบาลได้ในไทม์ไลน์ที่กำหนด โดยเดือน ส.ค.เป็นจุดที่ภาคเอกชนประเมินไว้ และได้คำนวณความเสี่ยงและผลกระทบเศรษฐกิจอยู่ในจุดที่รับได้ และหากช้ามากกว่านี้หมายถึงความเสียหายจะยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น”
ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเปราะบางอยู่แล้วทั้งมีหลายปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก หากต้องรอถึง 10 เดือน ตามที่พรรคการเมืองเสนอต้องมาประเมินว่าประเทศรับได้หรือไม่