'สถานบันเทิง24ชม.' ในเมืองการบิน กฎหมายเปิดช่องดึงลงทุน 'สนามบินอู่ตะเภา'
โปรเจ็กต์เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) มีสถานะเป็น Airport City มีเป้าหมายยกระดับให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการบินและเมืองธุรกิจสำคัญของภูมิภาคจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดกฎ กติกาสอดคล้องกับแนวปฎิบัติของธุรกิจที่จะอยู่ในพื้นที่รวมถึง “สถานบันเทิง”
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 อนุมัติ หลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนดโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองการบิน ภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ให้เปิดสถานบริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อื่นๆในพื้นที่ 3 จังหวัดของอีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง)
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า พื้นที่บางส่วนของสนามบินอู่ตะเภา จะเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่ง สกพอ.ได้ร่วมกันทำแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้บริการในเมืองการบินโดยร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและภาคเอกชน ในการแบ่งการใช้พื้นที่และประเภทกิจกรรมที่จะดำเนินการที่มีลักษณะพิเศษเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะบุคคล เฉพาะกลุ่ม เช่น โรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้า พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ร้านอาหาร เหมือนสนามบินชั้นนำทั่วโลกให้บริการในรูปแบบนี้โดยมีมาตรการในการติดตามดูแลอย่างเป็นสากล
ทั้งนี้ เมื่อมีกฎหมายรองรับให้มีการเปิดสถานบริการ 24 ชั่วโมงในพื้นที่เมืองการบินแล้วบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานในการบริหารสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภาซึ่งก็คือ บริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) จะสามารถให้ความมั่นใจกับนักลงทุนที่บริษัทจะไปชักชวนให้เข้ามาลงทุนในสนามบินในการเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือร้านค้าปลอดภาษี (duty fee) ว่าสามารถที่จะดำเนินการโดยสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง
รวมทั้ง UTA ก็มีแผนที่จะดึงธุรกิจเอกรายใหญ่ที่มีประสบการณ์การให้บริการในสนามบินทั่วโลกเข้ามาลงทุน โดยอาจมีการเปิดประมูลในลักษณะนานาชาติ (International bidding) เพื่อหานักลงทุนที่มีความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแนวทางการส่งเสริมการตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่อีอีซีได้รับความเห็นชอบจากครม.ไปตั้งแต่ปี 2565 โดยเป็นส่วนหนึ่งของมติของคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในเดือน พ.ค.2565 โดยระบุถึงการเปิดสถานบันเทิง 24 ช.ม.ในพื้นที่มี 4 เงื่อนไขภายใต้มาตรการกำกับดูแลที่จำเป็น ดังนี้
1.มาตรการรักษาความปลอดภัย มีการควบคุมความสงบเรียบร้อยและกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด มีการรักษาความปลอดภัย โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมตามหลักสากลโดยประสานความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือและกระทรวงมหาดไทยเพื่อมิให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย ป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบพื้นที่โครงการฯ และสร้างความเดือดร้อนต่อชุมนุมจนทำให้กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมมาตรการด้านกายภาพ
2.เป็นพื้นที่ที่มีรั้วรอบครอบคลุมทุกบริเวณ และมีการกำกับดูแลการเข้า-ออกของบุคคลและสิ่งของตามช่องทางที่กำหนด ด้วยระบบการกำกับดูแลที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง
3.มาตรการด้านเทคโนโลยี โดยให้ใช้ระบบวงจรปิดอัจฉริยะร่วมกับระบบการตรวจสอบใบหน้า การบันทึกภาพ ระบบการยืนยันตัวตน KYC (Know Your Customer) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานสากลและใช้ในสนามบินระดับโลก
4.มาตรการด้านการกำกับดูแล ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองและกำกับดูแลการจัดตั้งสถานบริการและขออนุญาตจัดตั้งสถานบริการแต่ละแห่ง
ในส่วนของส่งเสริมสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ได้แก่
1.ส่งเสริมการอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ ยกเว้นภาษีอากร และภาษีสรรพสามิต เฉพาะสินค้าที่อุปโภคและบริโภคในพื้นที่เมืองการบิน (Airport City) โดยยกระดับพื้นที่เมืองการบินสู่การเป็น “เขตประกอบการค้าเสรี” (Free Trade Zone)
2.ส่งเสริมการซื้อสินค้าในพื้นที่ Duty Free สำหรับผู้เดินทาง ในพื้นที่ EEC a Duty Free เพื่อนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมมูลค่าไม่เกิน 200,000 บาทต่อคนต่อปี โดยกำหนดมาตรการ สิทธิประโยชน์เฉพาะช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินโครงการฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางโดยใช้สนามบินอู่ตะเภาในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ
3.ส่งเสริมการซื้อสินค้าในพื้นที่ Duty Free สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เดินทาง เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวและช้อปปิ้งแห่งใหม่
โครงสร้างพื้นฐานที่จะดึงดูดการลงทุนไม่เพียงแต่การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบโปรเจ็กใหญ่ๆเท่านั้น “โครงสร้างพื้นฐานเชิงกฎหมาย” ก็เป็นเครื่องมือดึงดูดการลงทุนที่สำคัญด้วยเช่นกัน มีความสำคัญสำหรับการดึงดูดการลงทุน