เปิดความเห็นหน่วยงานราชการ ครม.ไฟเขียวแก้สัญญา ‘เมืองการบินอู่ตะเภา’
เปิดความเห็นหน่วยงานราชการ ประกอบการตัดสินใจ ครม.แก้ปัญหาเมืองการบินภาคตะวันออก กระทรวงการคลังแนะดูผลกระทบทางกาารคลัง สำนักงบฯตั้งข้อสังเกตปริมาณผู้โดยสารที่เอกชนทราบจำนวนแล้ว บีโอไอหนุนลงทุนต่อเผยขอสิทธิพิเศษทางภาษีที่เกี่ยวข้องได้
Key points
- ครม.เห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน
- การแก้ไขสัญญามีการผ่อนผันให้กับเอกชน จ่ายผลตอบแทนรัฐในช่วงแรกลดลง และให้เริ่มนับสัญญาสัมปทานหล้งจากมีผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 5.6 ล้านคนต่อปี
- หน่วยงานราชการเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขสัญญาเพื่อให้โครงการเดินได้แต่ให้ดูความคุ้มค่า และแผนการลงทุนในระยะต่อไปอย่างรอบคอบ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP net Cost) โดยมีคู่สัญญาคือคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) มีมูลค่าการลงทุนในโครงการ 204,240 ล้านบาท
โดยเอกชนที่รับสัมปทานได้รับสิทธิ์ในการบริหารโครงการ 50 ปี ประกอบไปด้วยระยะเวลาในการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ 3 ปี และการให้บริการ และการบำรุงรักษาโครงการฯอีก 47 ปี
ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบจากสงครามยูเครน และรัสเซีย ซึ่งเข้าเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนที่ระบุว่าหากเกิด “เหตุสุดวิสัย” หมายถึงเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นโดยมิใช่ความผิดของคู่สัญญาเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุที่ไม่อาจป้อง กันได้แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยจะระมัดระวัง ป้องกันตามสมควรแล้วก็ตาม ให้คู่สัญญาทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเจรจาเรื่องสัญญาร่วมกันเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้
เพื่อเป้าหมายในการผลักดันเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) เกิดขึ้นและสามารถเป็นศูนย์การบิน การท่องเที่ยว และธุรกิจ ของภูมิภาคเอเชียได้ในที่สุด
ครม.แก้สัญญาหนุนเอกชนเดินหน้าโครงการ
ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการในหลายประเด็น เช่น ให้เลื่อนวันเริ่มนับระยะเวลาในการเปิดให้บริการและบำรุงรักษาโครงการฯ ตามระยะเวลาสัมปทาน 47 ปี โดยให้เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาปีที่ 1 ในปีที่มีผู้โดยสารถึงจำนวน 5.6 ล้านคนต่อปี
โดยช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเริ่มนับปีที่ 1 นั้น ให้เอกชนคู่สัญญาลดวงเงินในการชำระค่าตอบแทนรัฐ ได้แก่ ชำระค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐจำนวน 100 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 820 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ และเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ
ชำระรายได้ของรัฐ 100 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 1,300 ล้านบาท ในปีที่1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ และ ชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. เป็นจำนวนเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือ จากการดำเนินโครงการฯ ภายหลังการชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว โดยไม่เกิน 5% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ ของเอกชนคู่สัญญา
ส่วนการปรับหลักเกณฑ์การพัฒนางานหลักของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คู่สัญญาตกลงปรับระยะการพัฒนางานหลักของสนามบินอู่ตะเภา เช่น อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดิน จากเดิมกำหนดไว้ 4 ระยะ เปลี่ยนเป็น 6 ระยะ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารของแต่ละระยะสอดคล้องกับประมาณการผู้โดยสารที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยในระยะแรกจะพัฒนาให้โครงการมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคนต่อปี และจะลงทุนในระยะถัดไป คือ ระยะที่ 2 – 6 เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึง 80% ของขีดความสามารถ ในการรองรับของระยะปัจจุบัน โดยโครงการฯ ยังกำหนดเป้าหมายให้สนามบินอู่ตะเภารองรับ ผู้โดยสารในปีสุดท้ายได้ 60 ล้านคนต่อปีเท่าเดิม
เปิดความเห็นหน่วยงานราชการแก้สัญญาเมืองการบินอู่ตะเภา
ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาของการร่วมลงทุนในโครงการนี้ ได้มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นไว้ในหลายประเด็นได้แก่
1.กระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่าหน่วยงานเจ้าของเรื่องควรพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพ
และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ.2566 รวมถึง สกพอ. ควรมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อผลตอบแทน และภาระทางการคลังของภาครัฐจากการดำเนินการเยียวยาตามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนดังกล่าว โดยหากการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
2.สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นว่าสมควรที่คณะรัฐนตรีจะรับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการฯตามที่ สกพอ. เสนอ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาโครงการฯ ดังกล่าว เห็นควรที่ สกพอ. จะตรวจสอบข้อสัญญาอย่างรอบคอบและชัดเจน
โดยเฉพาะในระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนนั้น ผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ ได้รับทราบปริมาณผู้โดยสาร ตลอดจน แผนการขยายท่าอากาศยานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณาในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจน ให้มีการศึกษาความเหมาะสมและการกระจายของผู้โดยสารทั้ง 3 สนามบิน โดยคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติด้วย
3.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในเรื่องนี้บีโอไอไม่ขัดข้องกับการแก้ไขสัญญา อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ จะต้องไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และประชาชนต้องได้รับผลประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 อนุมัติในหลักการให้การส่งเสริมแก่เอกชนเพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแล้ว
เปิดช่อง UTA ขอบีโอไอกิจการที่เกี่ยวข้อง
หากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติในหลักการไว้
สำหรับกิจการในเขตเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งประกอบไปด้วย ศูนย์ธุรกิจการค้า เขตธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ เขตธุรกิจซ่อมเครื่องบิน ศูนย์ฝึกอบรม บุคลากรการบิน และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน นั้น หากมีความชัดเจน ในการลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามหลักเกณฑ์ปกติในภายหลัง โดยประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมและสิทธิและประโยชน์จะเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ที่ประกาศใช้ในช่วงเวลาที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน
สศช.ชี้รัฐเอกชนรับความเสี่ยงร่วมเคลื่อนโครงการPPP
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ในครม.ครั้งนี้ สกพอ.ได้รายงานถึงปัญหาในการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการนี้เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กระทบกับภาคการบิน และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกระทบโดยตรงต่อจำนวนผู้โดยสารของสนามบินอู่ตะเภาและพบว่ามีการฟื้นตัวช้าของจำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาที่สนามบินอู่ตะเภา
ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ภาครัฐในฐานะคู่สัญญาต้องหารือกับภาคเอกชนที่รับสัมปทานเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้บนหลักการที่รับความเสี่ยงของโครงการร่วมกัน
“การทำสัญญา PPP ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน คงไม่ใช่แค่ว่าภาครัฐทำสัญญาแล้วบอกเอกชนว่าเอาเงินมาให้รัฐตามสัญญา แต่ว่าต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาและรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นร่วมกัน และหาทางให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้”