‘คลังสมองฯ’ จับตา ‘เอลนีโญ’ ดันราคาสินค้าเกษตร แนะไทยพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้ง
นักวิชาการคลังสมองฯ เตือนเอลนีโญดันราคาข้าวที่เริ่มปรับตัวเพิ่มจะกระทบกับราคาข้าวในประเทศที่ขยับสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปีนี้ ห่วงพืชสวนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เกิดปัญหาพืชยืนต้นตาย จี้ภาครัฐเอาจริงพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนแล้ง - โรคพืช รับภาวะโลกเดือด – สภาพอากาศแปรปรวน
สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าการคาดการณ์ของหน่วยงานนานาชาติที่ออกมาให้ความเห็นตรงกันว่าภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นจะรุนแรงแรงและกินเวลาต่อเนี่องไปเป็นระยะเวลานานทำให้บางประเทศเริ่มมีคำสั่งไม่ให้มีการส่งออกข้าว โดยเฉพาะในอินเดียที่ถือว่าข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศจึงประกาศห้ามการส่งออกและในการห้ามการส่งออกในปีนี้เป็นการห้ามการส่งออกข้าวขาว 5% และข้าวชนิดอื่นๆยกเว้นข้าวบาสมาติ
โดยการสั่งห้ามไม่ให้มีการส่งออกข้าวของอินเดียซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการออกส่งข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกมีผลทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยข้าวขาว 5% นั้นราคาปรับขึ้นถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และแนวโน้มราคาข้าวก็จะยังปรับขึ้นอยู่เนื่องจากปริมาณซัพพายข้าวในตลาดโลกที่จะลดลง
ส่วนราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลดีต่อรายได้ของชาวนาในประเทศไทย โดยเฉพาะในปีนี้ที่ยังไม่ได้ผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณการผลิตข้าวทั้งนาปี และนาปรังยังทำได้ตามเป้าหมายที่ประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก (นาปี 24- 25 ล้านตัน และปรังประมาณ 4- 5 ล้านตัน) และส่งออกข้าวได้ประมาณ 8 ล้านตัน
ปี 2567 ไทยเสี่ยงเจอภัยแล้งกระทบการเพาะปลูก
อย่างไรก็ตามในปี 2567การผลิตข้าวและพืชเศรษฐกิจในไทยจะเผชิญกับความท้าทายจากภัยแล้งรุนแรงจากภาวะเอลนีโญ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลง จะทำให้ผลผลิตที่ได้เกิดความเสียหาย โดยข้าวนาปีที่อาศัยน้ำตามธรรมชาติจะเสี่ยงเจอภาวะฝนแล้ง ส่วนข้าวที่ปลูกในพื้นที่ชลประทานก็จะขาดแคลนน้ำ ผลผลิตข้าวในปี 2567 จะได้ต่ำกว่าที่สามารถปลูกได้ในปี 2566 ประกอบกับดีมานต์ข้าวในประเทศที่จะลดลงด้วยบางส่วนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเดินทางมาประเทศไทยไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ทำให้ความต้องการข้าวในประเทศยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร
ทั้งนี้ราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่น้อยลงช่วงที่เกิดภัยแล้ง จะกระทบกับราคาข้าวในประเทศบ้าง โดยราคาข้าวขาวอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงสั้นๆ เมื่อดีมานต์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเริ่มเห็นผลราคาข้าวขาวที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า ขณะที่ข้าวเหนียวซึ่งเป็นพืชที่จะราคาสูงมากขึ้นหากมีอากาศร้อนมาก ผลผลิตน้อยคาดว่าจะเริ่มราคาสูงตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ เหมือนกับช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมาที่ราคาข้าวเหนียวเคยแพงมาก
สำหรับพืชชนิดอื่นๆที่จะได้รับผลกระทบมากจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นพืชที่ต้องใช้น้ำมาก ได้แก่ พืชสวน เช่น ทุเรียน ที่มีการปลูกกันมาก และบางพื้นที่เริ่มมีปัญหาขาดแคลนน้ำจนเกิดปัญหาผลไม้ที่ปลูกไม้ยืนต้นตาย เช่น การยืนต้นตายของทุเรียนในจ.ระนอง ซึ่งเป็นสัญญานว่าการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากมีความเสี่ยงที่จะมีเกิดความเสียหายได้ เช่น เดียวกับพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง ที่เจอปัญหาโรคระบาดมาต่อเนื่องและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
หวั่นอาหารสัตว์ราคาแพงจากอากาศร้อน
ส่วนปัญหาอีกส่วนที่จะเกิดขึ้นก็คือการขาดแคลนพืชอาหารเนื่องจากความแห้งแล้งก็คืออาหารสัตว์มักจะแพงด้วยเนื่องจากวัตถุดิบที่เป็นอาหารสัตว์ซึ่งอยู่ในกลุ่มธัญญพืช ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากที่ปัจจุบันราคาสูงอยู่แล้วจากปัญหาสงครามยูเครนและรัสเซีย
“ประเทศไทยคงไม่เจอกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง แต่จะมีปัญหาของราคาพืช และสัตว์ที่ขยับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแนวโน้มปัญหานี้จะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวแต่จะกลายเป็นปัญหาระยะยาว ซึ่งโอกาสของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร เป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร ที่ผ่านมาเราใช้เงินงบประมาณกับภาคเกษตรไปกว่า 1.2ล้านล้านบาทแต่เรื่องการวิจัยพันธุ์พืชเราใช้น้อยมาก ดังนั้นเราจำเป็นที่ต้องมุ่งไปที่การปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความแข็งแรง ทนแล้ง และทนศัตรูพืช ได้มากขึ้น ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ในระยะสั้นเรายังไม่โอกาสอะไรมาก นอกจากราคาข้าวที่ปรับตัวขึ้น จากซัพพายที่ลดลง แต่ประโยชน์อื่นๆเราไม่ได้มากนักเพราะเราไม่ได้เตรียมตัวดีพอที่จะรับโอกาสที่จะมาถึงในครั้งนี้”นายสมพร กล่าว