ผวาราคาดีเซลตลาดโลกพุ่ง ‘พลังงาน’ หวั่นอุ้มลิตรละ 32 บาทไม่ไหว
สัปดาห์เดียวหลัง “คลัง” ไม่ต่อลดภาษีดีเซล ควักเงินอุดหนุน 696 ล้าน จากเคยเก็บเดือนละหมื่นล้าน หวัง ส.ค.นี้ ได้รัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนนโยบาย ย้ำ ราคาน้ำมันยังผันผวน ล่าสุดดีเซลตลาดโลกทะลุ 115 ดอลลารต่อบาร์เรล ห่วงต้องควัก 4-5 บาท กังวลอาจอุ้ม 32 บาท ได้ไม่เกิน 1-2 เดือน
สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการประชุมของโอเปกพลัส วันที่ 4 ส.ค.2566 ว่าจะออกนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าซาอุดิอาระเบียจะขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ก.ย.2566 เพิ่มอีก 1 เดือน
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า "ราคาดีเซล"ในตลาดโลกปรับขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบภายหลังโรงกลั่นบางแห่งในเอเชียและยุโรปหยุดการดำเนินการชั่วคราว ขณะที่ตลาดคาดการส่งออกดีเซลของจีนในเดือน ส.ค.นี้ อยู่ที่ระดับ 0.6 ล้านตัน ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1 ล้านตัน ท่ามกลางความกังวลต่อการออกโควต้าการส่งออกรอบใหม่
ส่วน ราคาดีเซลตลาดสิงคโปร์ปรับขึ้นมาอยู่ที่บาร์เรลละ 118 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.77% ในขณะที่กระทรวงพลังงานประเมินว่ากรณีราคาดีเซลในตลาดโลกเกินบาร์เรลละ 115 ดอลลาร์ จะมีผลต่อการตรึงราคาขายปลีกในประเทศลิตรละ 32 บาท
แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคาดีเซลที่ราคาสูงเกินบาร์เรลละ 115 ดอลลาร์ ซึ่งการยกเลิกมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 ส่งผลให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาดีเซลพยุงราคาไว้ที่ลิตรละ 32 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ดีเซลในสัดส่วน 70% ของการใช้น้ำมันชนิดอื่นในไทย
“เมื่อคำนวณอัตราการอุดหนุนใน 1 สัปดาห์ พบว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินอุดหนุน 696 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 100 ล้านบาท และเดือนละ 3,000 ล้านบาท จากเดิมเคยเก็บเงินเข้ากองทุนเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท ดังนั้น หากราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะใช้เงินอุดหนุนระดับ 3 บาทต่อลิตร แต่มีบางช่วงน้ำมันดีเซลตลาดโลกขึ้นไปกว่า 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรง ทำให้ต้องใช้เงินอุดหนุนไปถึงระดับลิตรละ 4-5 บาท”
คาดอุ้ม32บาทได้ไม่เกิน2เดือน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงผันผวนและมีราคาสูงกว่าบาร์เรลละ 115 ดอลลาร์ อาจจะพยุงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 32 บาท ได้ไม่เกิน 2 เดือน รวมถึงอาจต้องเร่งการกู้เงินเพิ่มเติมในก้อนที่เหลือเพื่อจ่ายหนี้ให้กับคู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และเสริมสภาพคล่อง
“ตอนนี้หลายอย่างน่าเป็นห่วงเพราะราคาน้ำมันตลาดโลกยังผันผวน สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องดูฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจะตรึงราคาได้นานแค่ไหน และการจะกู้เงินอีก 55,000 ล้านบาท ที่เหลือจากการบรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้วรวม 1.1 แสนล้าน ต่ออีกหรือไม่ เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ชะลอการกู้เงินไว้ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะผันผวนปรับขึ้นอีกครั้ง”
นอกจากนี้ หวังว่าจะรัฐบาลใหม่จะได้ในเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 เพราะหากได้รัฐบาลเร็วจะมีการกำหนดนโยบายการบริหารเชื้อเพลิงที่จะช่วยให้การบริหารง่ายขึ้น เช่น นโยบายด้านภาษี นโยบายการอุดหนุนราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีกลไกในการบริหารราคาพลังงาน การกลั่นกรองกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ. สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ยังคงมีการหารือเพื่อดูแลราคาพลังงาน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานใช้กลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ในช่วงที่ราคาพลังงานสูงมาก และที่สำคัญหากต้องพยุงราคาต่อไปเรื่อย ๆ ประชาชนจะต้องเข้าใจว่าหากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงแต่กระทรวงพลังงานก็ไม่สามารถปรับลดราคาได้มากตามกลไกตลาด เพราะจะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะทำให้บัญชีที่ติดลบมาก ๆ ทะยอยติดลบน้อยลง
กองทุนเตรียมแผนกู้เงินเพิ่ม
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้จัดทำสมมติฐานเพื่อเตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ทั้งรูปแบบการลดภาษีดีเซลและไม่ลดภาษีดีเซล แบ่งเป็น หากราคาดีเซลตลาดโลกอยู่ที่ราคาระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ ประกอบด้วย
1.กรณีไม่ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรจะยังรักษาระดับราคาดีเซล 32 บาทต่อลิตร ได้ในระยะเวลา 2-3 เดือน ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันผันผวนจึงอาจตรึงราคาดีเซลลิตรละ 32 บาท ได้ระดับไม่เกิน 1-2 เดือน
2.กรณีรัฐบาลต้องการให้ลดราคาดีเซลต่ำกว่า 32 บาทต่อลิตร รัฐบาลจะต้องใช้นโยบายภาษีเข้ามาร่วมดูแลด้วย เช่น หากต้องการเห็นดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็จะต้องลดภาษีต่ออีก 2 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเก็บเข้าบัญชีเพื่อเสริมสภาพคล่อง
3.กรณีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งเกินกว่ากรอบที่คาดการณ์ไว้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจพิจารณาการกู้เงินเพิ่มอีก 55,000 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากที่กู้มาแล้ว 55,000 ล้านบาท ตามกรอบได้รับอนุมัติจาก ครม.เพื่อกู้ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่ได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือวงเงินที่จะต้องขอบรรจุเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 40,000 ล้านบาท ภายในต้นเดือน ต.ค.2566
ส.อ.ท.ห่วงต้นทุนพลังงาน
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยที่ยังคงติดลบ ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตได้รับผลกระทบ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นที่จะเข้ามาดูแลต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะราคาดีเซลและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อประคับประคองภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้บริโภค
นอกจากนี้ แม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะลดกำลังการผลิตลงอีก แต่เนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวที่คิดว่าจะยังคงเป็นแบบนี้อีกนาน โอกาสที่ราคาน้ำมันจะกระชากมีน้อยมาก เพราะน้ำมันดีเซลถือเป็นเครื่องมือหลักในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น จากการที่ภาครัฐใช้กลไกลการพยุงราคาน้ำมันดีเซลผ่าน 2 กลไก คือ กองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิตมาช่วยทำให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่พุ่งสูงมากขึ้น
ทั้งนี้ ราคาดีเซลปัจจุบันอยู่ระดับ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาทให้โดยสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา โดยให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอาจขึ้นราคาเบนซินบ้าง เพราะกองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นหนี้อยู่ และเพื่อดูแลไม่ให้ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นแบบพรวดพราดทันทีเพราะจะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี
“กระทรวงพลังงานเท่าที่ทราบก็พร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ มาดูแลลดผลกระทบก็เห็นด้วยเพราะหากปล่อยให้ราคาน้ำมันขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนผู้ผลิตพุ่งสูงขึ้นทันที และจะส่งผลต่อราคาสินค้าได้”นายอิศเรศ กล่าว