'แลนด์บริดจ์' ประตูการค้าทางทะเล โจทย์ใหญ่รอรัฐบาลใหม่สานต่อ
เปิดแผนท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ของไทย “แลนด์บริดจ์” ชุมพร - ระนอง ประตูการค้าทางทะเลสู่เป้าหมายศูนย์กลางจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าของสายการเดินเรือทั่วโลก สนข.เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่สานต่อ ดึงเอกชนร่วมทุน 1 ล้านล้านบาท ทยอยเปิดบริการปี 2573
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นประตูการขนส่งเชื่อมต่อทั่วโลก โดยประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร - ระนอง
“แลนด์บริดจ์” จะมีบทบาทเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้าส่งออกของประเทศไทยและในภูมิภาค เช่น อาเซียน และ BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย) เป็นศูนย์กลางของการขนส่ง การถ่ายโอนสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยขนถ่ายจากคมนาคมทางน้ำ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์และยังเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบจาก “ช่องแคบฮอร์มุซ” มายังท่าเรือระนอง และส่งผ่านทางท่อไปยังท่าเรือชุมพร เพื่อกระจายในภูมิภาครวมถึงจีนบางส่วน โดยแลนด์บริดจ์จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าคอคลอดกระที่ประเมินว่าต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 4 ล้านล้านบาท
ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) โดยระบุว่า ขณะนี้ สนข.ได้ศึกษาจุดที่ตั้งของการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทยแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีที่ตั้งฝั่งอันดามันอยู่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และฝั่งอ่าวไทยอยู่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร
สำหรับการลงทุน สนข.ประเมินจะจัดใช้วงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น
- โครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท
- โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท
- โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) รวม 1.4 แสนล้านบาท
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี สนข.จะแบ่งระยะการลงทุน ออกเป็น
ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ซึ่งจะพัฒนาท่าเรือเพียงบางส่วน และพัฒนาโครงการรถไฟพร้อมกับมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร
ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท จะขยายขีดความสามารถท่าเรือ และมอเตอร์เวย์เป็น 6 ช่องจราจร
ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท ขยายขีดความสามารถท่าเรือ และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถท่าเรือ
โดยแผนการลงทุนส่วนของท่าเรือ จะแบ่งออกเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง พัฒนาเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 6 ล้าน TEU
ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2574 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 12 ล้าน TEU
ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU
ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 4 ล้าน TEU
ระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2575 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2576 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 8 ล้าน TEU
ระยะที่ 3 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2577 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2578 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 14 ล้าน TEU
ระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือภายในปี 2579 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2581 สามารถรองรับประมาณตู้สินค้า ได้ประมาณ 20 ล้าน TEU
“ก่อนหน้านี้ สนข.ได้ศึกษาแผนพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ตามที่ได้รับมอบหมายแล้วเสร็จ แต่เสนอไม่ทันรัฐบาลชุดก่อน จึงคาดว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะสามารถผลักดันแผนพัฒนาโครงการนี้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทันที หรือประมาณเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EHIA) ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้มีความจำเป็นในการพัฒนา ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะเข้ามาบริหารก็จะมีการผลักดันต่อเนื่อง”
นายปัญญา กล่าวด้วยว่า หาก ครม.เห็นชอบกรอบการพัฒนาโครงการที่เตรียมเสนอในเดือน ต.ค.นี้ สนข.จะเดินหน้าในขั้นตอนเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน โดยมีเป้าหมายจัดทำโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจสายการเดินเรือประมาณ 10 ประเทศในช่วงสิ้นปีนี้ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศส และเยอรมัน เป็นต้น โดยหลังจากเชิญชวนเอกชนแล้วเสร็จ จะนำข้อเสนอต่างๆ มาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมูลได้ต้นปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568