ยกระดับสู้รบ 'นิติสงคราม' - 'รับ-ไม่รับ' คดี 'ทักษิณ' ครอบงำ
จับตาการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะรับหรือไม่รับคำร้องคดี “ทักษิณ” ครอบงำ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งร้องตรงของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” หรือไม่ โดยฝั่ง “พรรคเพื่อไทย” ประเมินโอกาสรับคำร้องมีสูง เพราะเป็นการยกระดับกลเกมนิติสงคราม
KEY
POINTS
- จับตาการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ นัด 22 พ.ย.67 รับ-ไม่รับ คดี "ทักษิณ ชินวัตร" ครอบงำ "พรรคเพื่อไทย" 6 ประเด็น จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
- ยกระดับรูปแบบการสู้รบด้วย "นิติสงคราม" ของกลุ่มอำนาจเก่าผ่านการร้องของ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ผู้เคยทิ้งผลงานยุบพรรคก้าวไกล
- แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ประเมินแนวโน้มศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสรับคำร้องสูง โดยอาจใช้เวลาไต่สวนราว 6 เดือน
- ปมอ่อนไหวหนีไม่พ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย คือ ข้อกล่าวหา "ทักษิณ" สั่งการรัฐบาลเอื้อประโยชน์ระหว่างต้องโทษจำคุก พักรักษาตัวที่ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ
- ประเด็นอ่อนไหวอีกปม คือ "ทักษิณ" สั่งการให้ "พรรคเพื่อไทย" มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
"ตุลาอาถรรพ์" ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่า "รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร" จะล่มสลายตามคำประกาศของ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยดีเดีย์วันที่ 10 เดือน 10 จุดพลุผ่านการเดินเกมของ "ทนายความอิสระ"ที่เคยฝากผลงานยุบพรรคก้าวไกล
โดย "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ในฐานะผู้ร้อง ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยกล่าวหา “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ถูกร้องที่ 1 และ "พรรคเพื่อไทย" ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ครบกำหนดไปแล้ว 15 วันนับแต่วันที่ 22 ต.ค. 2567 ที่ศาลรัธรรมนูญได้ขีดเส้นให้ "อัยการสูงสุด" (อสส.) มีหนังสือตอบกลับถึงการดำเนินการตามคำร้องขอของ "ธีรยุทธ" แล้วหรือไม่
ล่าสุด อสส.ตอบกลับศาลรัฐธรรมนูญว่า "เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ"
ขณะที่ "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ก็ส่งบันทึกถ้อยคำชี้แจงต่อ อสส.โดยย้ำว่าคำร้องของ "ธีรยุทธ" ไม่เข้าข่ายที่ "ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" กระทำการล้มล้างการปกครอง
"เราก็สู้ไปว่าไม่เข้าเกณฑ์ ทราบจากข่าวว่าทางอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้หรือไม่ เป็นดุลยพินิจของศาล ผมไม่ก้าวล่วง" ชูศักดิ์ ย้ำ
อย่างไรก็ตาม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดีเดีย์นัดประชุมวันที่ 22 พ.ย. 2567 ว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่
โดยคำร้องขอให้วินิจฉัยพฤติการณ์ของ "ทักษิณ" ปมครอบงำ"พรรคเพื่อไทย" กระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น มีข้อกล่าวหาไว้ 6 ประเด็น
1."ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย" สั่งการรัฐบาลผ่าน กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลรำตรวจเอื้อประโยชน์ระหว่างต้องโทษจำคุกพักชั้น 14 รพ.ตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต
2."ทักษิณ" สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยช์แก่ "สมเด็จฯฮุน เซน" และ "กัมพูชา" ละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย
3. "ทักษิณ" สั่งการ "พรรคเพื่อไทย" แก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง
4."ทักษิณ" สั่งการแทน "พรรคเพื่อไทย" เพื่อเจรจากับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่
5. "ทักษิณ" สั่งการให้ "พรรคเพื่อไทย" ให้มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
6. "ทักษิณ" สั่งการให้ "พรรคเพื่อไทย" นำนโยบายของตัวเองที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 12 ก.ย. 2567
6 ประเด็นดังกล่าว โฟกัสประเด็นร้อนที่สุด หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาแรกกรณีพักชั้น 14 รพ.ตำรวจ
ประเด็นคำร้องดังกล่าวทำให้มือกฎหมายของ "พรรคเพื่อไทย" มองว่าน่าจะมีโอกาสสูงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งไม่ต่างจากกรณีคดีของ "อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน" ปมแต่งตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง สั่งรับคำร้องกรณีของ 40 สว.ไว้วินิจฉัย จนท้ายที่สุดก็ส่งผลให้ "เศรษฐา" ต้องร่วงพ้นตำแหน่งนายกฯ แบบไม่คาดคิด
ทว่าคำร้องปม "ทักษิณ" ครอบงำ "พรรคเพื่อไทย" อาจจะต้องลุ้นหลายยกในเกมยาว มีการประเมินอาจกินเวลาไต่สวนในชั้นศาลรัฐธรรมนูญถึง 6 เดือนโดยประมาณ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
แหล่งข่าวจากมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทยมองว่า แนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งออกมาเป็นไปได้ 2 ทางคือ รับคำร้อง และ ไม่รับคำร้อง
แต่แนวโน้มการสั่งรับคำร้องจะมีโอกาสสูงกว่า โดยมีข้อพิจารณาเหตุผลที่จะต้องรับไว้ เพราะ 1.ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับการเมือง ที่ผ่านมาการพิจารณาคดีใหญ่ๆ มักจะมีผลการพิจารณาที่คาดไม่ถึงตลอดเวลา อาทิ กรณีคดีบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลวินิจฉัยให้พ้นข้อกล่าวหา และคดีของอดีตนายกฯ เศรษฐา ก็วินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกฯ ถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมักจะออกมาในทางพิศดารอยู่เสมอ
2.คำร้องของ "ธีรยุทธ" เกิดขึ้นในห้วงที่สถานการณ์การเมืองใช้แง่มุม "นิติสงคราม" เข้าห้ำหั่นกัน และผลของคำร้องที่ยื่นนั้นก็เกิดขึ้นหลังจาก พรรคพลังประชารัฐ สูญเสียอำนาจในการพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งมีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่า "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ยอมแพ้ ทำให้ขุนพลบ้านป่ารอยต่อฯ อย่าง "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ต้องเดินเกมประกาศผ่านสื่อยกระดับการสู้รบด้วยเกม "นิติสงคราม" เพื่อล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
"มีกลุ่มหนึ่งเขียนคำร้องประเด็นนี้ เหมือนทำแบบนายกฯ เศรษฐา เลย เหตุการณ์ดังกล่าวมีการเตรียมการ วางงานวางคนในการเขียนคำร้อง ทำเหมือนกรณี 40 สว.ล่ารายชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนายกฯ เศรษฐา อีกทั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนก็มีที่มาจาก 250 สว. ดังนั้นอำนาจของขั้วเก่ายังมีอยู่" แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุ
และ 3.เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้ แม้ อสส.จะเห็นแย้งกับคำร้องดังกล่าว แต่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้ดุลพินิจตีความเห็นต่างจาก อสส.ได้ แม้ อสส.จะดูพฤติการณ์ว่าไม่เข้าข่ายในการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แต่ก็ยังมีมุมที่ยังโต้แย้งไม่ได้ข้อยุติว่า กรณีพักรักษาตัวที่ ชั้น 14 รพ.ตำรวจนั้น "ทักษิณ" ติดคุกจริงหรือไม่
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยจึงประเมินว่า โอกาสสูงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่มติไม่เอกฉันท์ โดยข้อกล่าวหาในประเด็นที่ 1 กรณีชั้น 14 และ อีกปมอ่อนไหว ประเด็นที่ 5 กรณีมีมติขับพรรคพลังประชารัฐพ้นรัฐบาล เป็น 2 ประเด็นที่คาดว่าศาลจะให้น้ำหนักมากที่สุดในการรับไว้พิจารณา
หรืออีกแนวทางศาลสั่ง "รับคำร้อง" ไว้ก่อนแล้วค่อยพิจารณาวินิจฉัยทีละประเด็นในตอนท้าย
ซึ่งหากวินิจฉัยว่า "ทักษิณ" มีการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 49 แล้ว บันไดขั้นต่อของผู้ร้องก็จะยื่นดาบสองต่อทันทีตามโมเดลยุบพรรคก้าวไกล คือยื่นคำร้องขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเพื่อไทย
กระบวนการหลังจากนี้ แน่นอนว่า "ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย" นำโดย "ชูศักดิ์" ต้องเตรียมประเด็นเพื่อแก้ข้อกล่าวหาทุกแง่มุมเพื่อรักษาสถานะของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ให้อยู่รอดจนครบเทอมตามคำประกาศของ "นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร"
ส่วนอีกแนวทางที่มีโอกาส คือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกคำร้อง เท่ากับว่า "รัฐบาลพรรคเพื่อไทย"และตัว "ทักษิณ" ก็จะพ้นข้อกล่าวหา แต่ยังต้องลุ้นต่ออีกว่า กลเกมการยกระดับสู้รบด้วย "นิติสงคราม" น่าจะยังไม่จบสิ้นเพียงเท่านี้