นิคมฯ อีอีซีผวาเอลนีโญ ระดมแผนรับมือภัยแล้ง

นิคมฯ อีอีซีผวาเอลนีโญ ระดมแผนรับมือภัยแล้ง

นิคมฯ เตรียมแผนรับมือภัยแล้งจากเอลนีโญเตรียมแผนประหยัดน้ำ รีไซเคิลน้ำ เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อรับมือแล้งปีหน้าที่อาจรุนแรงขึ้น ห่วงประเด็นส่งมอบท่อน้ำตะวันออก “อีสวอเตอร์-วงษ์สยาม” กระทบแผนส่งน้ำรับมือแล้ง

สถานการณ์เอลนีโญ่และภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่มีความต้องการใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคบริการและภาคครัวเรือน รวมทั้งมีการประเมินว่าสถานการณ์น้ำฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค.2566 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ จึงทำให้ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้ง

อัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า ภาคการผลิตเป็นอีกกลุ่มที่มีความต้องการใช้น้ำโดยสถานการณ์เอลนีโญ่ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำทั้งในลุ่มเจ้าพระยาที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี รวมทั้งสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้ สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ได้หารือแผนบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมชลประทาน รวมถึงผู้ซัพพลายน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้กระทบกับภาคอุตสาหกรรม

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 สถานการณ์น้ำคาดว่าจะยังไม่เกิดภัยแล้งที่รุนแรง โดยนิคมอุตสาหกรรมจะรับมือและเชื่อว่าสามารถผ่านสถานการณ์ในปีนี้ไปได้ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลหากสถานการณ์ลากยาวเนื่องจากในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงรอยต่อ 2 เรื่อง คือ 1.รอยต่อในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้โครงการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำขาดความต่อเนื่อง และ 2.รอยต่อโครงการท่อส่งน้ำในพื้นที่อีอีซี โดยยังไม่มีข้อสรุปการบริหารท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกจากทั้งบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ และบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด 

“ในเบื้องต้นนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอได้เตรียมกักเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุดในปีนี้ และจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากภายนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งหารือกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการซ่อมบำรุงซึ่งจะต้องหยุดการผลิตชั่วคราวในช่วงที่น้ำแล้งแทน รวมทั้งมีแผนการใช้นวัตกรรมการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้ใช้น้ำคุ้มค่ามากที่สุด” จรีพรกล่าว

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ประเมินสถานการณ์น้ำแล้งปี 2566 ยังไม่รุนแรงเพราะยังมีฝนตกหลายพื้นที่ และทำให้มีการประเมินว่าในปีนี้จะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญแบบอ่อน (Mild-El Nino) 

“กนอ.ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการเพื่อให้ใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างประหยัดและใช้น้ำรีไซเคิล รวมทั้งได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทใหญ่ในภาคตะวันออกศึกษาการกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination) และการแนวทางการใช้น้ำที่ได้จากการกลั่นให้เกิดประโยชน์ให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วที่สุด ซึ่งจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้”

ทั้งนี้ต้องจับตาสถานการณ์ปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 ว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้น ประเด็นน่ากังวลเช่นกันคือการบริหารท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ซึ่งทำให้ขาดการส่งน้ำจากอ่างเก็บในระยองไปชลบุรีจึงทำให้ระดับน้ำในชลบุรีส่งสัญญาณเตือนภัย

นอกจากนี้ อีสท์วอเตอร์ รายงานสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกวันที่ 28 ก.ค.2566 ซึ่งครอบคลุมอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง ในจ.ชลบุรี และ จ.ระยอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 

1.กลุ่มที่มีสถานการณ์น้ำในอ่างอยู่ในระดับปกติ หรือมีน้ำในอ่าง 50-80% ของความจุอ่าง โดยอ่างหนองค้อ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำ 13.36 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 62% ของความจุอ่าง , อ่างคลองใหญ่ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 29.46 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 73% ของความจุอ่าง , อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 188.43 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 6387% ของความจุอ่าง

อ่างดอกกราย จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 38.07 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 53% ของความจุอ่าง , อ่างหนองปลาไหล จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 94.99 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% ของความจุอ่าง , อ่างคลองใหญ่ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 29.46 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 73% ของความจุอ่าง

2.กลุ่มที่มีสถานการณ์น้ำในอ่างอยู่ในระดับฉุกเฉิน หรือมีน้ำในอ่าง 30-50% ของความจุอ่าง โดยอ่างบางพระ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำ 45.46 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 39% ของความจุอ่าง 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าปริมาณน้ำรวมของอ่างใน จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง มีปริมาณลดลง แต่ยังไม่ถึงระดับวิกฤติที่จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุอ่าง โดยสถานการณ์น้ำในปัจจุบันอยู่ระดับเฝ้าระวังและต้องติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปกติแต่ละปีจะมีน้ำไหลเข้าอ่างมากในช่วงปลายเดือน ส.ค.ของทุกปีเพื่อสะสมน้ำเตรียมไว้สำหรับปีถัดไป

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิดและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในนามคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อให้หน่วยงานรัฐเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งที่อาจลากยาว 2-3 ปี ตามปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณฝนน้อยทิ้งช่วงนาน

“ภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำสำรองลดลง ซึ่งช่วงเริ่มต้นนี้ยังมีเวลาเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม”

รวมทั้งถ้าปล่อยให้เกิดเอลนีโญโดยไม่เตรียมแผนรับมือภัยแล้งอย่างเหมาะสมจะส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง 20-30% และสินค้าราคาแพงขึ้น ส่วนการผลิตภาคคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในอีอีซีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมาก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร กระดาษ ปิโตรเคมี สิ่งทอ เหล็ก โรงไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์