'กรมเจรจาการค้า' เปิด 3 ความท้าทาย ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจโลก
"กรมเจรจาการค้า" เปิด 3 ความท้าทายปัจจัยฉุดเศรษฐกิจโลก แนะ ไทยฉวยโอกาสภายใต้โลกแบ่งขั้วมหาอำนาจ แนะรัฐ-เอกชน ร่วมมือผนึกพันธมิตรรวมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ มองส่งออกไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เหตุความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาภัยแล้ง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Thailand Trade Pulse 2023: New Thinking to Cope With Multiple Headwinds ในเวทีสัมมนา "Thailand Economic: Resilience and Opportunities" จัดโดย "เดอะ เนชั่น" วันที่ 7 ส.ค. 2566 ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจการค้าของโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโควิด-19 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศขั้มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจของไทยปี 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า จะอยู่ระหว่าง 2.7-3.7% ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 2.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การขยายตัวอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 1% ซึ่งก็จะชะลอตัวจากปี 2565 เนื่องจากยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาภูมิรฐศาสตร์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกไทยครึ่งปีแรกอยู่ที่ 147,477 ล้านดอลลาร์ลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบการส่งออกกับหลายประเทศถือว่าไทย ยังดี เช่น ญี่ปุ่น ลดลง 6% มาเลเซียลดลง 8.4% อินเดีย ลดลง 8.7% และเวียดนามลดลง 12% เป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่ช่วยพยุงส่งออกให้ไทยดีกว่าหลายประเทศ คือ ความต้องการสินค้าเกษตร การท่องเที่ยว การคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า เป็นต้น จึงประเมินว่า การส่งออกของไทยครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อาจค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับความท้าทายความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน รวมถึงปัญหาภัยแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ
นางอรมน กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องจับมือกันทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ
1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกระทบในเชิงกว้าง โดยสหรัฐได้ออกกฎหมายสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายประเทศ กกฎหมายควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงไปที่จีน ส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่การผลิตระหว่างพันธมิตรและในอินโด-แปซิฟิก
นอกจากนี้ อีกขั้วมหาอำนาจฝั่งจีน ได้เพิ่มบทบาทพันธมิตรตามเส้นทางสายใหม่ผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางโครงการคมนาคม เพื่อแสวงหาพันธมิตรและก้าวเป็นผู้นำ เร่งเดินหน้ากระชับความสำคัญสัมพันธ์กันค้าเศรษฐกิจดิจิทัลกับเพื่อนบ้าน อาเซียน ผ่านการยกระดับ การยกการค้าทางเสรี
"ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การแยกห่วงโซ่อุปทานสหรัฐกับจีนส่งผลให้ส่วนแบ่งจีนในสหรัฐลดลง ขณะที่ไทยได้ส่วนแบ่งสหรัฐเพิ่มขึ้น จากเครื่องปรับอากาศ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนจักรยานยนต์ เป็นต้น ส่วนจีน ไทยยังได้รับอานิสงส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และการลงทุนของจีนในกลุ่มยานยนต์
2. การขยายตัวของมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าหลายประเทศเริ่มออกนโยบายด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่เชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น โดยสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นประเทศสำคัญในการขับเคลื่อนโดยออกนโยบายตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 และ Net Zero ปี 2593 โดยหนึ่งในกฎหมายสำคัญคือการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่ควบคุม 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ซีเมนต์ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม และไฮโดรเจน
3. ความเสี่ยงปัจจัยการผลิตวัตถุดิบอาหารและพลังงาน ด้วยความขัดแย้งของ รัสเซีย ยูเครนได้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารและพลังงานโลก การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เช่น อินเดียห้ามส่งข้าวออกนอกประเทศเพื่อรักษาสมดุลอาหาร ดังนั้น ไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารอาจจะใช้โอกาสความมั่นคงทางอาหารขับเคลื่อนสินค้าการเกษตรและอาหารไปยังประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารเอง
"ความท้าทายทั้ง 3 เรื่อง ถือเป็นตัวอย่างที่ไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวและแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ รักษาโอกาสและช่วงชิงศักยภาพในการแข่งขันของไทย"
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการปรับปรุงกฎระเบียบที่ทันสมัยการรักษาตลาดเดิมและการเจาะตลาดใหม่การพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และการส่งเสริมการค้าดิจิตอล เป็นต้น รวมทั้งยังมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน โดยหนึ่งในการรักษาบทบาทของไทยในเวทีโลก คือ การขยายข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างประเทศ (FTA) กับคู่ค้าใหม่เพิ่มเติมจาก FTA เดิม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ปัจจุบัน จะช่วยผลักดันให้ไทยมีการยกระดับกฎระเบียบการค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น
"เชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด ร่วมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลก จะทำให้เราเข้าถึงกระแสและก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ร่วมกันได้อย่างแน่นอน"