‘BYD’ ค่าย EV จีนกำลังจะกลายเป็น ‘The Next Toyota’
จับตา “BYD” ค่ายรถแดนมังกรดาวรุ่ง สร้างยอดขาย “600,000 คัน” ภายในไตรมาสเดียว โค่นแชมป์เก่า “Volkswagen AG” หลังครองอันดับ 1 ในจีนต่อเนื่องอย่างน้อย 15 ปี สื่อนอกชี้ “BYD” เตรียมสยายปีกสู่ “Toyota of EV”
Key Points:
- ต้นปี 2023 ผลประกอบการรถยนต์สัญชาติจีน “BYD” โตจากปี 2022 ถึงห้าเท่า ขึ้นแท่นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายมากที่สุดในโลก โค่นแชมป์ “Tesla” ได้สำเร็จ
- แนวโน้มการเติบโตของ “BYD” ถูกจับตามองและได้รับการขนานนามว่า อาจเป็น “The Next Toyota of EV” รับไม้ต่อจากบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่เคยครองแชมป์ขายดีอันดับ 1 และยังมีกระบวนการผลิตที่ดีที่สุดโลกแห่งหนึ่งด้วย
- ความท้าทายของ “BYD” คือ การเข้าไปเปิดตลาดสหรัฐ ประเทศที่มีเมืองดีทรอยต์และเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์รถยนต์เจ้าดังมากมาย รวมถึงยังมีความท้าทายเรื่องกำแพงภาษีในช่วงเวลาแห่งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ แต่ “BYD” ขอเข้าสู้ด้วย “เกมราคา” และการเป็นคู่ค้าคนสำคัญของ “Toyota” ที่เคยยึดหัวหาดพญาอินทรีสำเร็จมาแล้ว
เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ “อีวี” โตแรงไม่หยุดจากกระแสพลังงานไฟฟ้า-น้ำมันแพง ทำให้ยอดซื้อขาย “รถ EV” ก้าวกระโดดต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าปี 2023 จาก “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” (Economic Intelligence Center หรือ EIC) พบว่า รถยนต์ “บีวายดี” (BYD) ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 35.2 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย “เนต้า” (Neta) “เทสลา” (Tesla) “เอ็มจี” (MG) และ “จีดับบลิวเอ็ม” (GWM) ซึ่งทุกแบรนด์ล้วนมีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาพรวมแล้ว “EIC” ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยจะโตทะลุ 430 เปอร์เซ็นต์ มียอดซื้อขายเฉลี่ยรวม 50,000 คัน
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทยเท่านั้น เพราะหากพิจารณาภาพรวมตลาดโลกในปีที่ผ่านมาจะพบว่า การเติบโตและกระแสความนิยมของรถยนต์พลังงานใหม่หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยอดขาย “BYD” ที่สามารถเบียดขึ้น “เบอร์ 1” ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย แซงหน้า “Tesla” ที่ “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) เคยออกมาปรามาสคู่แข่งในตลาดเดียวกันไว้ว่า การเติบโตของ “Tesla” ทิ้งห่างแบรนด์อื่นๆ ชนิดที่แม้จะใช้กล้องโทรทรรศน์เพ่งดูก็ไม่สามารถมองเห็นคู่แข่งที่วิ่งไล่หลังได้
ทว่า คำกล่าวของเจ้าพ่อ Tesla ได้กลายเป็นเพียงความหลังอันหอมหวานไปเสียแล้ว ด้วยกราฟการเติบโตของ “BYD” ที่พุ่งทะยานรุดหน้าขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง “Tesla Model Y” ยังตัดสินใจใช้แบตเตอรี่ “Blade Battery” ที่ “BYD” เป็นผู้ผลิต ซึ่งนอกจาก “Tesla” ยังมี “Ford” ต้นตำรับรถยนต์ผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์โลกที่ตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยี “Blade Battery” จาก “BYD” เช่นกัน
ด้วยความสำเร็จของ “BYD” ในศักราชนี้ จึงทำให้สื่อนอกคาดการณ์กันว่า “BYD” กำลังจะกลายเป็น “The Next Toyota of EV” รับไม้ต่อจาก “Toyota” รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
- เริ่มจาก “แบตเตอรี่” ลงท้ายด้วย “เจ้าแห่งรถยนต์พลังงานใหม่”
แม้วันนี้ชื่อของ “BYD” จะเป็นที่รู้จักในฐานะรถยนต์ไฟฟ้าแห่งทศวรรษ แต่หากย้อนกลับไปในปี 1995 จะพบว่า BYD เริ่มต้นจากการเป็นแบรนด์ผู้ผลิตแบตเตอรี่มาก่อน โดย “หวัง ชวนฟู่” (Wang Chuanfu) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “BYD” อดีตนักวิจัยที่เคยคลุกคลีในห้องแล็บมาก่อน ด้วยความสนใจในศาสตร์แห่งโลหะวิทยาทำให้เขาพบว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะมีโอกาสเติบโตอย่างแน่นอน “หวัง ชวนฟู่” จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชาร์จไฟที่มีชื่อว่า “BYD” ย่อมาจาก “Build Your Dream”
หลังจากนั้น “BYD” ก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความช่ำชองด้านการเป็นผู้นำแบตเตอรี่ ตั้งแต่การเป็นบริษัทจีนเจ้าแรกในฐานะซัพพลายเออร์ผู้ผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้กับ “โนเกีย” (Nokia) และ “โมโตโรลา” (Motorola) กระทั่งเข้าซื้อบริษัทรถยนต์แล้วนำมาโมดิฟายต่อเป็น “BYD Auto” ทำให้ชื่อเสียงความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำแบตเตอรี่เกิดไป “เตะตา” นักลงทุนผู้ทรงอิทธิพล “วอร์เรน บัฟเฟตต์” (Warren Buffett) จนตัดสินใจลงทุน-เข้าซื้อหุ้นมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท จนถึงวันนี้ “BYD” มีมูลค่าบริษัทกว่า 4.5 ล้านล้านบาท เป็นรองเพียง “Toyota” และ “Tesla” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าของยักษ์อีวีแดนมังกรจะยังตามหลังทั้งสองบริษัท แต่ยอดขายที่เข้าวินมาเป็นอันดับ 1 ของโลกเมื่อปี 2022 รวมถึงแนวโน้มการเติบโตที่กำลังไปได้สวย จึงทำให้สื่อนอกจับตา-เปรียบเทียบการมาถึงของ “BYD” ในขณะนี้ว่า มีความคล้ายคลึงกับ “Toyota” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
สำนักข่าว ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ระบุว่า ทั้ง “Toyota” และ “BYD” มีความคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ คือ ไม่ได้เริ่มต้นในเส้นทางอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอย่างแรก “Toyota” เป็นบริษัทผลิตเครื่องทอผ้าอัตโนมัติ ส่วน “BYD” ก็มีผลิตภัณฑ์ชูโรงเปิดตัวแบรนด์ด้วยแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ อีโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่า ด้วยจุดออกสตาร์ทที่ “ตามหลัง” เจ้าตลาดรถยนต์แบรนด์อื่นๆ ทำให้ทั้ง “Toyota” และ “BYD” ต้องคิดนอกกรอบ-มองหาสิ่งที่แตกต่างออกไป จะทำอย่างไรให้ตนเองเฉือนเอาชนะคู่แข่งได้
“Toyota” จึงหยิบส่วนผสมวิชาการสร้างกลไกเครื่องทอผ้าพัฒนาสู่การวางระบบประดิษฐ์เครื่องยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน “BYD” ก็ใช้ความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่หลายทศวรรษของตนเอง มุ่งศึกษาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมรถยนต์อีวีและไฮบริด โดยใช้เวลา 13 ปี กว่าจะเปลี่ยนเกมสู่การผลิต “NEV” หรือ “New Energy Vehicle” เต็มตัวได้สำเร็จ
-หวัง ชวนฟู่ ผู่ก่อตั้งและผู้บริหาร “BYD”: เครดิตภาพจาก Bloomberg-
- จาก “The Toyota Way” สู่ “The New Toyota”
“ตูเล่อ” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “Sino Auto Insights” บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและนวัตกรรม กรุงปักกิ่ง ระบุว่า “Toyota” เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่เป็น “อัจฉริยะ” ด้านการผลิตมานานหลายทศวรรษ โดยเป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มผู้ผลิต นักลงทุน และผู้ที่ให้ความสนใจวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ว่า มีคำเรียกกระบวนการ-แนวทางการทำงานของแบรนด์รถรุ่นคุณปู่ว่า “The Toyota Way” หรือ “วิถีแห่งโตโยต้า” ซึ่งหมายถึงกระบวนการการผลิตที่มีการจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์แบบ มุ่งเน้นการผลิตแบบ “Lean Production” รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยพุ่งเป้าไปที่การเติบโตของบริษัทและการสร้างทีมงานคุณภาพไปพร้อมๆ กัน
“ตูเล่อ” ให้ความเห็นว่า แนวทางการทำงานของ “BYD” ขณะนี้อาจเทียบเคียงได้กับวิถีการทำงานแบบ “Toyota” โดยค่ายรถจากเมืองจีนเจ้านี้เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการทำงานแบบบูรณาการมากที่สุดในโลก “BYD” แทบจะไม่ต้องมีดีลกับซัพพลายเออร์เจ้าอื่นๆ เพราะลงมือทำเองตั้งแต่เบาะนั่งในรถไปจนถึงแบตเตอรี่ และชิปเซมิคอนดักเตอร์
“เทย์เลอร์ โอแกน” (Taylor Ogan) ผู้บริหาร “Snow Bull Capital” และเป็นหนึ่งในนักลงทุนผู้ถือหุ้น “BYD” อธิบายถึงระบบ “Automation” ภายในโรงงานรถยนต์แห่งนี้ว่า ในระบบสายพานการผลิตของ “BYD” มนุษย์มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ ตรวจสอบความเรียบร้อยในขั้นตอนสุดท้าย หรือทำการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของหุ่นยนต์เท่านั้น “BYD” จึงไม่ได้เป็นเพียงดาวรุ่งมาแรงของวงการรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังทำหน้าที่ในการกำหนดนิยามใหม่ให้กับการผลิตรถยนต์เหมือนที่ “Toyota” เคยทำสำเร็จมาแล้ว
-เครดิตภาพจาก Bloomberg-
- สู้บน “เกมราคา” ทำให้ EV Car เป็นสินค้าราคา “เอื้อมถึง”
วันที่ 30 มกราคม 2566 มีการเปิดเผยผลประกอบการค่ายรถ “BYD” พบว่า บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิได้ราว 2.4-2.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึงห้าเท่า ส่งให้ “BYD” ขึ้นแท่นเบอร์ 1 รถยนต์ไฟฟ้าโลก เบียด “Tesla” ร่วงสู่รองแชมป์ทันที โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การขยายฐานผู้ใช้งานไปสู่ระดับ “แมส” ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าราคาเอื้อมถึง จากเดิมที่อาจติดภาพว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีราคาสูง ซึ่งเป็นความแตกต่างจาก “Tesla” ที่มีรุ่นรถให้เลือกค่อนข้างน้อย และมีราคาสูงกว่า
สำหรับเจ้าแห่งการผลิตรถยนต์อย่าง “สหรัฐ” นั้น “BYD” เองก็หวังจะเข้าไปตีตลาดเช่นกัน แม้จะได้ชื่อว่า มีอาณาจักรผลิตรถยนต์อย่างเมือง “ดีทรอยต์” อยู่แล้ว แต่ขนาดของตลาดที่มีความน่าสนใจ บวกกับความมั่นใจในกำลังผลิตและราคาจึงทำให้ “BYD” ยังตั้งเป้าสหรัฐเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่จะเข้าไปเปิดตลาดให้ได้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า สหรัฐและจีนยังคงมีแรงปะทุจาก “สงครามการค้า” ลากยาวมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ “BYD” ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์รวมถึงกำแพงภาษีที่สูงลิ่ว ทว่า ในขณะเดียวกันสหรัฐเองก็ยังมีความต้องการวัตถุดิบสำคัญอย่างแบตเตอรี่จากจีนด้วย
เมื่อทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่ต่างเป็น “Big Market” ซึ่งกันและกัน ด้านสหรัฐเองก็ยังต้องการพึ่งพากำลังซื้อจากจีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วน “BYD” ก็พร้อมปูพรมขยายตลาดไปยังสหรัฐเช่นกัน แม้ในขณะนี้จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแต่จากกระแสข่าวตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็พอจะจับสัญญาณได้ว่า ไม่นานหลังจากนี้ “BYD” กำลังเตรียมสยายปีกลงจอดในเมืองพญาอินทรีอย่างแน่นอนโดยมีจุดตัดที่ “เกมราคา” เพราะค่ายรถจีนเจ้านี้สามารถหั่นราคารถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่า “Tesla” ด้วยราคาที่ต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์ต่อคัน
นอกจากนี้ “BYD” ยังเป็นคู่ค้าพันธมิตรคนสำคัญกับ “Toyota” ที่เคยยึดหัวหาดสหรัฐสำเร็จมาแล้วในทศวรรษ 1970 แม้ว่าการเติบโตของ “BYD” จะเขย่า “Toyota” ไม่น้อย แต่ทั้งสองค่ายต่างก็รู้ดีว่า ตนเองเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เนื่องจากตอนนี้ “Toyota” เองก็ต้องการบุกตลาดรถยนต์อีวีโดยใช้แบตเตอรี่จาก “BYD” ขณะที่การบุกตลาดสหรัฐในช่วงเวลาที่ต้องเจอกับมาตรการด้านภาษีของสหรัฐนั้นไม่ง่ายสำหรับรถยนต์สัญชาติจีนเช่นกัน
ถึงอย่างนั้น “หวัง ชวนฟู่” ผู้สร้างอาณาจักร “BYD” ก็ยังคงมีเป้าหมายสำคัญโดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ไว้ว่า แรงกระตุ้นในการสร้าง “BYD” ไม่ใช่เพื่อความสำเร็จของตนเอง แต่คือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น
อ้างอิง: Bloomberg 1, Bloomberg 2, Business Insider, Economist, Money and Banking, PPTV, South China Morning Post