เสียงสะท้อนเวที ‘ผู้นำอาเซียน’ โดดเดี่ยวการทูตไม่ช่วยแก้ปัญหาใน ‘เมียนมา’

เสียงสะท้อนเวที ‘ผู้นำอาเซียน’  โดดเดี่ยวการทูตไม่ช่วยแก้ปัญหาใน ‘เมียนมา’

ครม.รับทราบรายงานกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประชุมผู้นำอาเซียน ผลการหารือเรื่องปัญหาในเมียนมา พบผู้นำหลายประเทศเห็นด้วยโดดเดี่ยวเมียนมาจากประชาคมอาเซียน ไม่ช่วยแก้ปัญหา นักวิชาการมองปัญหาในเมียนมาท้าทายจุดยืนไทยในเวทีโลก แนะรัฐบาลใหม่กำหนดท่าทีเหมาะสม

ปัญหาการเมืองภายในเมียนมาหลังการ รัฐประหารเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ได้รับความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการติดตามท่าทีของอาเซียนว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ในการประชุมอาเซียนหลายวาระช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาตัวแทนของรัฐบาลประเทศต่างๆได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องสถานการณ์ภายในเมียนมาขึ้นมาหารือกันเป็นระยะๆ โดยก่อนหน้านี้อาเซียนได้มีการออกฉันทามติ 5 ข้อเพื่อเป็นแนวทางยุติความรุนแรงในเมียนมาได้แก่

  1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
  2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โดยปัจจุบันอินโดนิเซียในฐานะประธานอาเซียนยืนยันว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ขณะที่ในการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาเมียนมาร์ยังไม่ได้ดำเนินการตามฉันทามตินี้อย่างครบถ้วน รวมทั้งได้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยตัวชั่วคราว และลดโทษการเมืองบางส่วนให้กับอองซานซูจี

 ส่วนท่าทีของประเทศไทยภายใต้การนำของดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยเดินหน้าทางการทูตโดยเชิญ สมาชิกอาเซียน มาประชุมในไทยเมื่อเดือน มิ.ย.เพื่อหาทางแก้ปัญหาเมียนมาเมื่อวันที่ 15 – 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้เดินทางไปพบกับอองซานซูจี ถึงเรือนจำในเมียนมา เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานให้ ครม.รับทราบว่าระหว่างการเข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนของรมว.ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2566 ซึ่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ณ เมืองลาบวน บาโจ

ในที่ประชุมได้มีการหารือกันหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนรวมถึงประเด็นสถานการณ์ในเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศรายงาน ครม.ว่าในเรื่องนี้ผู้นำอาเซียนได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและดำเนินการตามฉันทามติ 5  

"การประชุมครั้งนี้ต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากหลายประเทศเห็นว่า การที่อาเซียนโดดเดี่ยวเมียนมาส่งผลให้ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา”

บรูไน-มาเลเซีย มีท่าทียืดหยุ่นขึ้น

ทั้งนี้ในการประชุมบรูไนดารุสซาลาม และมาเลเซียได้แสดงท่าทียืดหยุ่นมากขึ้นต่อการกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมา ในขณะที่อินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐสิงคโปร์ยังมีข้อกังวลในการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมา

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการรับรองสถานะรัฐบาลของเมียนมา รวมทั้งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในเรื่องนี้ เนื่องจากช่วงสองปีที่ผ่านมามีปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ และการค้ามนุษย์ ในขณะเดียวกันเมียนมาได้แสดงท่าทีเชิงบวกและยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การนิรโทษกรรมผู้ถูกคุมขังทางการเมือง การแสดงความพร้อมที่จะหารือกับทุกฝ่าย และแผนจะจัดการเลือกตั้งเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

 

ชี้อาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมมีพลังกว่า 

ส่วนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการโจมตีขบวนรถของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งคณะติดตามผลของอาเซียนในเมียนมา ตามข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงโดยทุกฝ่าย รวมทั้งแสดงให้เห็นท่าทีร่วมกันของอาเซียนและสะท้อนความสามัคคี เนื่องจากที่ผ่านมาอาเชียนไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการออกแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาได้ และต้องออกเป็นแถลงการณ์ของประธานอาเซียนแทนซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่า

 

นักวิชาการชี้ไทยเผชิญเกมภูมิรัฐศาสตร์ในเมียนมา

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่าชาติอาเซียนมีแนวคิดไม่ตรงกันเรื่องของการแก้ปัญหาในเมียนมา โดยไทยเราได้รับผลกระทบจากเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาถึง 2 ต่อ เนื่องจากเรามีพรมแดนที่ติดกับเมียนมานับพันกิโลเมตร และเรายังถูกแรงกดดันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์ในเมียนมา

ที่ผ่านมาไทยมีจุดยืนเดียวกับอาเซียนในการไม่แทรกแซงกิจการภายใน แต่ในขณะนี้เราจะเห็นว่าทั้งอินโดนิเซีย และไทยก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานดังกล่าว เพราะในฉันทามติ 5 ข้อนั้น อินโดนิเซียต้องการที่จะส่งผู้แทนพิเศษของอาเซียนเข้าไปภายในเมียนมา ซึ่งเมียนมาก็ไม่ยินยอม เพราะถือว่าเป็นเรื่องกิจการภายใน ขณะที่อินโดนิเซียในฐานะประธานอาเซียนก็ไม่ได้เชิญรัฐบาลเมียนมาเข้าประชุมผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด

ขณะที่ไทยเองก็พยายามแก้ปัญหาด้วยแนวทางอาเซียน 1.5 คือเราพยายามหาเวทีที่ผู้นำเมียนมาจะเข้าร่วมได้ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลของจีนอยู่ด้วยซึ่งเห็นจากเวทีการหารือเรื่องเมียนมาที่จัดขึ้นในไทยมีผู้แทนของจีนร่วมอยู่ด้วย ขณะที่ประเทศที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯอยู่ เช่น สิงคโปร์ และอินโดนิเซีย ก็ไม่เข้าร่วมการประชุมที่ไทยจัดขึ้นเช่นกัน

ดังนั้นกล่าวได้ว่าในขณะนี้จุดยืนเรื่องของสถานการณ์ในเมียนมาสำหรับชาติสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกัน ระหว่างแนวทางที่แข็งกร้าว คือไม่ยอมให้รัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามาร่วมวงเจรจา เช่น อินโดนิเซีย และสิงคโปร์ ส่วนไทยอยู่ในกลุ่มที่มีแนวความคิดว่าต้องเปิดเวทีให้เมียนมาเข้ามาเจรจาหารือด้วย ซึ่งไทยมองว่าแนวทางที่ยืดหยุ่นและไม่โดดเดี่ยวเมียนมาจะส่งผลดีกว่าในการแก้ปัญหา และมีกรณีที่รมว.ต่างประเทศของไทยสามารถเข้าไปพบกับอองซานซูจีถึงในเมียนมาได้ ซึ่งอาจมองว่าการเปิดประตูในการพูดคุย เจรจากัน นั้นยังมีอยู่

 

แนะรัฐบาลใหม่กำหนดจุดยืนที่เหมาะสม 

ทั้งนี้มองว่าปัญหาเรื่องของเมียนมาที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้จะยังคงเป็นปัญหาระยะยาว และจะเป็นปัญหาที่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องกำหนดท่าทีของประเทศไทยให้เหมาะสม อยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงจุดยืนและความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียนได้  

 

เสียงสะท้อนเวที ‘ผู้นำอาเซียน’  โดดเดี่ยวการทูตไม่ช่วยแก้ปัญหาใน ‘เมียนมา’

 

“ในเรื่องนี้ไทยเราเหมือนเผชิญภาวะ 2 เด้ง คือในฐานะที่เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดน และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันหลายด้าน ขณะที่อีกด้านเมียนมาก็อยู่ในอิทธิพลของมหาอำนาจคือ จีน และสหรัฐฯที่เข้ามาแข่งขันกันมีบทบาทในเมียนมาซึ่งเป็นเรื่องท้าทายเช่นกันที่รัฐบาลใหม่จะกำหนดบทบาทที่เหมาะสมของประเทศในสถานการณ์นี้”นายสมชาย กล่าว