“ประยุทธ์” ปลื้มผลงาน “EEC” ดึงเงินลงทุนเกินเป้า 2 ล้านล้าน
"ประยุทธ์" ปลื้มผลงานรัฐบาลในพื้นที่อีอีซี โชว์อนุมัติเงินลงทุนเกินเป้าหมาย 2 ล้านล้าน และออกบัตรส่งเสริมลงทุนแล้ว 1.3 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนอีอีซีต่อเนื่อง หนันประชาชนหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และได้เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (IOC) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (EECi Aripolis - Sustainable Manufacturing Center : SMC) และเมืองนวัตกรรมชีวภาพ การเกษตรสมัยใหม่ (EECi Biopolis - Innovative Agriculture Smart Greenhouse) จ.ระยอง
โดยได้รับฟังสรุปความสำเร็จของ EEC 5 ปีแรก (2561-2565) อนุมัติเงินลงทุนเกินเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายมที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าออกบัตรส่งเสริมปี 2561 ถึงไตรมาส 2 ของปี2566 จำนวน 1,360,349 ล้านบาท มูลค่าออกบัตรส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ และเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสะอาด ระบบผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วม ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์ธุรกิจระหว่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ภาคโลจิสติกส์ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
โดยประเทศที่ได้รับบัตรส่งเสริมการสูงสุด 5 ลำดับแรก คือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้ได้มีการขยายไปสู่การขับเคลื่อน EEC ในประเภทต่าง ๆ ทั้ง EECi ,EECh (เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน) EECd (เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล) EECmd (เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา) และEECa (เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก)
เพื่อมุ่งให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้มีรายได้ในการพัฒนาประเทศมากขึ้น และแสดงความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ EEC ต้องอยู่ในพื้นที่นี้มีความสุข และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมทั้งด้านกายภาพและจิตใจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
ส่วนการตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท มีความก้าวหน้าในภาพรวม คิดเป็น 58.42%
ส่วนช่วงที่ 2 การลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปี ข้างหน้า