'กฟผ.' เปิด 'บ้านครินทร์' ต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน
"กฟผ." ชวนสัมผัสบรรยากาศ "บ้านครินทร์" ต้นแบบบ้านสมัยใหม่ บริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะอย่างตรบวงจร ผ่านประสบการณ์จริง ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแห่งอนาคต
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมบ้านครินทร์ ต้นแบบนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงานแห่งอนาคต ณ เขื่อนศรีนครินทร์ ว่า บ้านครินทร์ (KARIN) เป็นต้นแบบนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงานแห่งอนาคตจากแนวคิด Liveable Showroom ที่รวบรวมเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานที่ทันสมัยและบริการพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร (Smart Energy Solutions) เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการบริหารจัดการพลังงานผ่านประสบการณ์จริง ตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ โดยออกแบบตามหลักเกณฑ์บ้านเบอร์ 5 เน้นการพึ่งพาธรรมชาติตามหลัก Eco Design ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้บริหารจัดการพลังงานภายในบ้านอย่างครบวงจร อาทิ ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (ENZY Platform) ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น โดยมี AI Model ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพื่อควบคุมและบริหารการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าในวันที่เข้าพักเพื่อสรุปเป็นรายงานการใช้พลังงาน (Energy Report) ให้ผู้เข้าพักได้รับรู้ถึงการใช้พลังงานภายในบ้าน รวมถึงมีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Wallbox ให้บริการผู้เข้าพักที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
บ้านครินทร์ยังได้จำลองรูปแบบการใช้ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทิศทางพลังงานสะอาดในอนาคต 3 รูปแบบ ได้แก่
1. Islandable Model จำลองโมเดลบ้านในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบไฟฟ้าหลัก แต่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้จากโซลาร์เซลล์ เน้นการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานในเวลากลางคืน
2. Zero - Net Energy Model จำลองโมเดลบ้านที่มีเป้าหมายให้บิลค่าไฟฟ้าเป็น 0 บาท ติดตั้งโซลาร์เซลล์ครอบคลุมความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านตลอดทั้งวัน ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการที่ไม่ต้องลงทุนติดตั้งแบตเตอรี่ในปริมาณมากเกินจำเป็น มีการติดตั้งระบบรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) ได้อีกด้วย
3. Prosumager Model จำลองโมเดลบ้านสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) ผู้ใช้ไฟฟ้า (Consumer) และบริหารจัดการพลังงานเอง (Manager) โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อเตรียมรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันเอง (Peer to Peer Energy Trading) ในอนาคต
ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานของบ้านครินทร์ ขยายสู่ธุรกิจ Smart Energy Solutions ทั้งในมหาวิทยาลัย สวนสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร อาคารสำนักงาน และโรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวในสังคม ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามได้รายละเอียดได้ที่ http://energysolutions.egat.co.th หรือจองบ้านพักได้ที่ @kscvilla.snr