“กฟผ.”เปิดแผนลดหนี้แสนล้าน ห่วงยืดเยื้อดันต้นทุนการเงินพุ่ง

“กฟผ.”เปิดแผนลดหนี้แสนล้าน   ห่วงยืดเยื้อดันต้นทุนการเงินพุ่ง

สถานการณ์พลังงานกำลังอยู่บนปากเหวซึ่งราคาที่แพงขึ้นก่อนหน้านี้ได้ฉีกกระเป๋าเงินของหน่วยงานผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 ที่ต้องแบกรับหนี้ 1.1 แสนล้านบาทหลังดูดซับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ซ้ำเติมประชาชนทั่วไทยที่เพิ่งผ่านพิษไข้ทางเศรษฐกิจหลังถูกโรคโควิด-19 รุกราน 

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า  ปัจจุบันกฟผ.มียอดแสดงทางบัญชีเมื่อปลายปี 2565 ที่ 1.1แสนล้านบาท กำหนดแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด จะสิ้นสุด งวดสุดท้ายเม.ย.2568 ซึ่งมีความพยายามเรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้าโดยการชะลอการจ่ายหนี้ตามแผนที่กำหนดไว้  ซึ่งในทางหลักการสามารถทำได้แต่ในทางปฏิบัติจะส่งผลเสียหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะเครดิตของกฟผ.ให้ลดลงและจะทำให้ต้นทุนการกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตจะสูงขึ้นและกลางเป็นวงจรกลับไปที่ประชาชนที่ต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างไม่รู้จบ

ในส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากการกู้โดยให้เครดิตกฟผ.เอง 1.1แสนล้านล้าน  เป็นการเปิดโอดีไลน์ (เบิกเมื่อไหร่ก็คิดดอกเบี้ยเมื่อนั้น)  3 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.4แสนล้านบาท   โดยเงินกู้เป็นแบบระยะสั้นต้องชำระคืนตามแผนหากไม่เป็นไปตามนั้นก็จะเพิ่มภาระดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลในระยะสั้นที่จะได้รับทันทีคือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากจะนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายการผลิต ส่วนผลกระทบในระยะยาวก็คือ แผนการลงทุน เช่น การขยายสายส่ง การพัฒนาระบบการผลิต จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีเงินไปลงทุนและหากจะกู้ก็จะมีต้นทุนการกู้ที่สูงขึ้นตามสัดส่วนเครดิตที่ลดลงจากปัญหาหนี้ที่สะสมไว้ 

“หากกฟผ. มีปัญหาสภาพคล่องการประเมินเครดิตเรตติ้งก็จะลดลงทำให้ก็จะหาเงินยาก ลงทุนก็จะยากตามไปด้วยเป็นผลกระทบต่อกฟผ.ในระยะสั้นแต่ในระยะยาวเป็นผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งโดยหลักการทั้งต้นทุนดอกเบี้ยและต้นทุนการลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะไปตกที่ค่าไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่องนี้ ทำให้หนี้ 1.1 แสนล้านบาทนี้เป็นเหมือนการแบกภาระที่เต็มกำลัง หากมีแค่ฟางอีกเส้นลงมาอีกก็จะทำให้เราหลักหักได้" 

บุญญนิตย์ กล่าวถึงความพยายามบิดเบือนค่าไฟฟ้าว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเพื่อตัวเองหรือการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ดูดีแต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารที่ไม่สะท้อนความจริงจะเป็นภาระของประเทศและประชาชนต่อไป ซึ่งเรื่องการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือส่วนอื่นๆก็ควรต้องมานั่งคุยกันในรายละเอียดเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง  

สำหรับต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยของกฟผ.อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1-5% จากการออกพันธบัตรEGAT  ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนค่าพลังงาน โดยเฉพาะจากแอลเอ็นจี ซึ่งที่ผ่านมาช่วงพีคที่สุด ราคาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรพุ่งสูงเป็นเท่าตัวจากค่าก๊าซเเอลเอ็นจีที่เฉลี่ยที่เคยใช้ที่ ทำให้ค่าไฟฟ้าจริงจะสูงมากแต่ที่ผ่านมากฟผ.ช่วยจ่ายส่วนต่างให้เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนจึงเป็นที่มาของหนี้สินก้อนใหญ่ในปัจจุบันนี้ 

“อนาคตต้นทุนพลังงานจะลดลง ค่าเชื้อเพลิงจะลดลงเรื่อยๆ สามารถนำปัจจัยนี้มาบริหารจัดการค่าไฟฟ้าได้แต่ตอนนี้การจะขยายหนี้ออกไปอีกคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องมาดูแลปัญหาค่าเอฟทีต่อไป ซึ่งกฟผ.ยืดหยุ่นมาจนสุดแล้วไม่อยากจะยืดออกไปอีกแต่เรื่องแบบนี้ต้องมานั่งคุยกัน”

บุญญนิตย์ กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อราคาพลังงานคือปัญหาสภาพอากาศ โดยเฉพาะเอลนีโญ ซึ่งจะไม่กระทบต่อไทยโดยตรงแม้น้ำในเขื่อนจะลดลงเพราะการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นเพียงบายโปรดักต์เท่านั้น และมีสัดส่วนต่อการผลิตไฟฟ้าเพียง 3% แต่ปัญหาเอลนีโญจะทำให้น้ำในเขื่อนประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยซื้อจาก สปป.ลาวลดลงอาจกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้ามาที่ไทย ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาพลังงานอื่น โดยเฉพาะแอลพีจีที่มีราคาสูงกว่า โดย ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเฉลี่ยที่หน่วยละ 2 บาท ขณะที่แอลเอ็นจีต้นทุนอยู่ที่ 9 บาท  

“วัตถุประสงค์การสร้างเขื่อนเพื่อดูแลระบบนิเวศ อุปโภคบริโภค แต่การผลิตไฟฟ้าเป็นบายโปรดักต์ ซึ่งจะรู้ต้นทุนน้ำที่แท้จริง 1พ.ย.เมื่อถึงเวลานั้นจะสามารถบอกได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจะกระทบหรือไม่ แต่เบื้องต้นจะไม่กระทบในภาพรวมเพราะสัดส่วนการใช้พลังงานจากน้ำมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ดังนั้นการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าต้องทำอย่างเหมาะสมสะท้อนความเป็นจริงเพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาหนึ่งกลายไปเป็นภาระใหม่ที่ท้ายที่สุดแล้วคนที่แบกรับก็คือประชาชน