เทรนด์ EV ยังโตแรง ย้ำไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
บีโอไอ-เรเว่ ย้ำเชื่อมั่นไทยก้าวเป็นศูนย์กลางอีวีภูมิภาค ทุ่มสิทธิประโยชน์ทั้งฝั่งดีมานต์และซัพพลาย ครึ่งแรกปี 2566 มียอดส่งเสริมลงทุนกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เตรียมเสนอแพคเกจ EV3.5 อุดหนุนตลาดในประเทศ ชี้โอกาสลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องตลอดอีโคซิสเต็ม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “Thailand Focus 2023 : The New Horizon” คุยภาครัฐ และผู้บริหารระดับสูงภาคธุรกิจ สะท้อนโอกาสไทย สร้างความเชื่อมั่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยสู่บริบทใหม่การลงทุน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในหัวข้อ “ไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทานและการกลับเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 6% ของจีดีพี และมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 1 ล้านคน
ด้วยการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ระดับโลกในไทยในช่วง 50 ปี ทำให้ไทยมีซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและครบวงจร ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์อันดับหนึ่งในอาเซียน และอันดับที่ 10 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตปีที่ผ่านมากว่า 1.8 ล้านคัน และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 ล้านคันในปีนี้
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมายานยนต์ยังเป็นสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี โดยมีตลาดส่งออกหลักไปยังประเทศในเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกาง อเมริกาเหนือ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของยานยนต์กำลังก้าวไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนการผลิตเกือบทั้งหมด ขณะที่ไทยยังคงต้องการรักษาตำแหน่งผู้ผลิตอีวีของภูมิภาคและอับต้นๆ ของโลก ดังนั้นจึงมีการประกาศนโยบาย 30@30 เพื่อตั้งเป้าหมายให้มีการผลิตอีวีในประเทศเป็นสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2030
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งฝั่งดีมานต์และซัพพลายของอุตสาหกรรมอีวี ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตอีวีระดับโลกสนใจเข้ามางทุนในประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย. 66 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีและชิ้นส่วนกว่า 80 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 19,596 ล้านบาท อีกทั้งในช่วงครึ่งหลังของปียังมีอีก 2 บริษัทใหญ่จากจีนที่เตรียมยื่นขอส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ฉางอัน ออโตโมบิล และ GAC AION
รายงานจากบีโอไอระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ประเภทแบเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) 14 โครงการ จาก 13 บริษัท รวมเป็นกำลังการผลิตกว่า 276,640 คัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเป้าหมาย 30@30 แล้ว
นอกจากนี้มีโครงการส่งเสริมลงทุนเกี่ยวกับชิ้นส่วนอีวี 18 โครงการ จาก 16 บริษัท มูลค่า 6,082 ล้านบาท โครงการแบตเตอรี่สำหรับอีวี 20 โครงการ จาก 14 บริษัท มูลค่า 9,200 ล้านบาท และโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้า 19 โครงการจาก 9 บริษัท มูลค่า 4,544 ล้านบาท รวมเป็น 11,632 หัวชาร์จ
“เทรนด์การลงทุนย้ายฐานการผลิต จากความกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ถือเป็นโอกาสของไทยในการดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ ด้วยจุดแข็งของไทยในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชน การตอบรับของตลาดในประเทศการสนับสนุนสิทธิประโยชน์การลงทุน รวมทั้งความพร้อมของสัดส่วนพลังงานสะอาดในประเทศ”
มองตลาดอีวีไทยยังโตแรง
นางสาวประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด กล่าวว่า ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นจึงทำให้รถอีวีได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นด้วย โดยในปีที่แล้วสัดส่วนการใช้รถอีวีทั่วโลกขยับเพิ่มขึ้นเป็น 14% และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น30% หรือมียอดขายราว 14 ล้านคันทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเองก็มีการตอบรับการใช้รถอีวี ปีที่แล้วมียอดขาย 22,000 คัน ขณะที่ครึ่งแรกปีนี้ มียอดขายกว่า 32,000 คัน โดยคาดว่าทั้งปียอดขายอีวีน่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 400%
ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนอีวีในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและช่วยผลักดันให้อัตราการเติบโตของยอดขายอีวีขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้นโยบายการอุดหนุนผู้ซื้อ 1.5 แสนบาทต่อคัน ซึ่งทำให้ราคาอีวีเทียบเท่ารถเครื่องยนต์สันดาปก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นตลาด
นอกจากนี้ การแข่งขันของแบรนด์รถอีวีที่เข้ามาอย่างคึกคักในปีนี้ ยังเป็นการขยายการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภครู้จักรถอีวีมากยิ่งขึ้น ผ่านการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานมากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้ยอดขายอีวีขยายตัวอีกด้วย
“สำหรับรถบีวายดี บริษัทได้ส่งมอบรถแล้วกว่า 18,000 คัน โดยในอนาคตมีแผนที่จะยำรถเพื่อการพาณิชย์เข้ามามากยิ่งขึ้นรวมทั้งโมเดลรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เตรียมเปิดตัวในสิ้นปีนี้”