เปิดภารกิจด่วนรมว.คลัง “จัดทัพผู้บริหาร-เร่งคลอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ”
เปิดภารกิจเร่งด่วนรมว.คลังคนใหม่ ”จัดทัพผู้บริหารระดับสูง - สำรวจเงินในกระเป๋า ปรับงบ 67 ตั้งงบ 68 - เดินนโยบายเพิ่มรายได้ แจกเงินดิจิทัล” จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี เพิ่มสวัสดิการบัตรคนจน ตัดเบี้ยคนชรา ฟื้นโครงการจำนำข้าว
ค่อนข้างชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรี ”เศรษฐา ทวีสิน” จะนั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่ง ถือเป็นครั้งแรกในรอบไม่ต่ำกว่า 40 ปีที่นายกรัฐมนตรีจะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีเพียงผู้ที่นั่งในเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจเท่านั้นที่มานั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะถือว่า ลักษณะงานมีความใกล้เคียงกัน จึงมองว่า ภาระหน้าที่ทั้งการบริหารประเทศและบริหารเศรษฐกิจจะเป็นภาระอันหนักหน่วงเกินไปสำหรับ”เศรษฐา”หรือไม่
แต่เมื่อในโผคณะรัฐมนตรีมี”กฤษฎา จีนะวิจารณะ”ปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุในสิ้นเดือนก.ย.นี้ จะมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงพอจะเบาใจได้ว่า มีมือดีเข้ามาช่วย เพราะปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ที่รู้งานทุกด้านในกระทรวง เมื่อรัฐบาลต้องการที่จะเร่งผลักดันเศรษฐกิจในช่วงปลายปี หลังจากที่งบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า บวกกับ แนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะต้องเร่งสานและคลอดออกมาอย่างรวดเร็วแล้ว คนที่จะมาเป็นมือขวาทำหน้าที่ขานรับทุกนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงต้องเป็นคนที่มาจากกระทรวงการคลังเท่านั้น
สำหรับภารกิจเร่งด่วนของ”เศรษฐา” คือ การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง เพื่อวางกำลังพลเข้ามาช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้ เนื่องจาก ในสิ้นเดือนก.ย.นี้ จะมีผู้บริหารระดับสูงเกือบ 10 คนที่จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งรวมถึง ปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบันด้วย ถือว่าเป็นการโยกย้ายครั้งใหญ่ เพราะขยับตั้งแต่เบอร์หนึ่ง แน่นอนว่า จะต้องแต่งตั้งคนที่สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี สำหรับเต็งหนึ่งปลัดกระทรวงการคลังคงหนีไม่พ้น “ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากรในปัจจุบัน เพราะถือเป็นคนใกล้ชิดปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบันมากที่สุดแถมยังเป็นลูกหม้อจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังด้วยกัน โชว์ฝีมือในการดำเนินโครงการและมาตรการของรัฐบาลหลายชิ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทั้งการผลักดันแอปพลิเคชันเป๋าตัง มาตรการคนละครึ่ง และการแจกเงินช่วยเหลือคนจน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งปรับปรุงและผลักดันพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว เพราะงบประมาณรายจ่ายในส่วนของการลงทุนจำนวนหลายแสนล้านบาท จะต้องดันให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี นอกจากนี้ ยังต้องวางกรอบงบประมาณรายจ่ายในปี 2568 ควบคู่ไปด้วย จากนั้น ต้องเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนผ่านการลดค่าครองชีพต่างๆ ต่อด้วยปฎิบัติภารกิจตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มรายได้แก่ประชาชน อาทิ เพิ่มเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น 2.5 หมื่นบาท นโยบายเงินสมทบคนสร้างตัว และนโยบายสำคัญที่เป็นความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ในขณะนี้ คือ การได้รับแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ตกผลึกว่า จะมีรายละเอียดหรือขั้นตอนอย่างไร ที่สำคัญ คือ จะใช้เม็ดเงินจากแหล่งใดบ้าง หากเป็นไปตามนโยบายคาดว่า จะใช้เม็ดเงินราว 5.6 แสนล้านบาท
เบื้องต้น พรรคเพื่อไทยระบุว่า จะนำมาจากงบประมาณทั้งหมด ซึ่งก็ต้องติดตามว่า รัฐบาลจะสามารถเกลี่ยงบประมาณจากส่วนใดมาใช้ได้ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแหล่งเงินที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว คืองบกลาง หรือ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในปี 2566 ได้ตั้งงบไว้จำนวน 9.24 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อนุมัติใช้จ่ายงบไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท คงเหลือวงเงินอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2567 ได้ตั้งงบประมาณไว้จำนวน 9.3 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่า รัฐบาลจะมีวงเงินที่สามารถใช้ได้ราว 9.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายวงเงินดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯมาตรา 20(6)กำหนดให้การใช้งบประมาณดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือ บรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และ ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ทั้งนี้ หากดังกล่าวไม่เพียงพอ อาจจะใช้จ่ายเงินทุนสำรองจ่าย ซึ่งมีวงเงินอีก 5 หมื่นล้านบาท อีกแหล่ง คือ การใช้เงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ซึ่งปัจจุบันใกล้เต็มเพดาน แต่การใช้เงินตรงนี้ จะไม่เป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะ
ด้านเงินคงคลังนั้น หากจะนำมาใช้จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ปัจจุบัน ระดับเงินคงคลังเหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังคาดว่า สิ้นปีงบประมาณจะอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะปรับกรอบการขาดดุลงบประมาณในปี 2567 ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า จะกู้ได้20% ของกรอบวงเงินงบประมาณบวกกับ 80% ของรายจ่ายชำระต้นเงินกู้ ซึ่งในปีดังกล่าวได้ตั้งไว้ที่7.63 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินที่จะกู้ได้อีกประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แต่การกู้เพิ่มเติมจะต้องไม่เกิน3% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นกรอบที่กำหนดไว้ตามแผนการคลังระยะปานกลาง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาวงเงินที่พรรคเพื่อไทยจะต้องจัดหามาใช้ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้โดยรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาทแล้ว ภารกิจสำคัญ คือ การจัดหารายได้ โดยการหารายได้นั้น หากจะดำเนินการผ่านการกู้เงิน ก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเพดานหนี้สาธารณะ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60% ต่อจีดีพี ยังมีช่องที่จะกู้ได้อีกราว 1.5 ล้านล้านบาท ถึงจะชนเพดานที่ 70% ต่อจีดีพี อีกด้านของการหารายได้ แน่นอนว่า จะต้องผ่านการปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เป็นที่จับตาว่า จะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อหารายได้เร่งด่วนหรือไม่
หากไม่สามารถเพิ่มเงินในกระเป๋ารัฐบาลได้ อีกแนวทางที่จะช่วยได้ คือ การตัดลดรายจ่าย โดยเน้นไปที่รายจ่ายที่มีความซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น ตามข้อศึกษาของกระทรวงการคลัง คือ ลดการจ่ายเงินที่ซ้ำซ้อนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น หากตัดงบเบี้ยผู้สูงอายุที่จะจ่ายให้ผู้สูงอายุในกลุ่มคนรวย จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ราว 50% จากปัจจุบันที่จ่ายอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งในอนาคตรายจ่ายสำหรับผู้อายุจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทิศทางสังคมผู้สูงอายุ
สำหรับอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญ คือ การพิจารณาเพิ่มสวัสดิการสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภารกิจนี้หากไม่ทำแล้วจะกระทบต่อฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรอยู่ราว 13.4 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังต้องติดตามว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะฟื้นโครงการจำนำข้าวที่เคยใช้ในอดีตอีกหรือไม่