ความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย

ความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย

จีดีพีของไทยขยายตัวเพียง 1.8% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ เทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้อย่างมาก คือ 3.1-3.2% ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2 ของปีนี้เทียบกับไตรมาสแรกของปี

ปรับลดลงเหลือเพียง 0.2% (หลังจากปรับฤดูกาลแล้ว) แปลว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด (จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1.7%)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ควรจะดีกว่าไตรมาส 1 ด้วยซ้ำ เพราะคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจีนจะมีแรงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สหรัฐจะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ย และประเทศไทยเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง (นักการเมืองนำเอาเงินออมออกมาใช้หาเสียง)

แต่กลับกลายเป็นว่า การส่งออกหดตัวมากถึง 5.7% การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวผิดคาด เพราะรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด 

การลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลง ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐพลิกตัวจากขยายตัว (4.7%) มาติดลบ (-1.1%) ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ นำเอาไปใช้ในการกำหนดนโยบายว่า ควรจะเร่งทำอะไรก่อนอะไรหลัง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการบริโภคของเอกชน ซึ่งขยายตัว 7.8% ในไตรมาส 2 สูงกว่าการขยายตัว 5.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ กล่าวคือ หากดูจากตัวเลขดังกล่าวข้างต้น สะท้อนว่า

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ฟุบตัวลงนั้น มิได้เกิดจากการชะลอตัวลงของการบริโภคภายในประเทศมากนัก แต่เป็นการหดตัวของการส่งออก และการชะลอตัวของการลงทุนมากกว่า

ความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศในปีนี้ลดลงจาก 1.27 ล้านล้านบาท เหลือ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลงไป 240,000 ล้านบาท หรือ 1.25% ของจีดีพี

สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้ สภาพัฒน์ประเมินว่าจะลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่น่าจะเป็นการประเมินที่ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ดี เพราะในครึ่งแรก การส่งออกลดลงไปแล้ว 6% แปลว่าครึ่งหลัง การส่งออกจะต้องขยายตัวมากถึง 4.2% จึงจะสามารถเป็นไปตามเป้าดังกล่าว

การฟื้นการท่องเที่ยว (การส่งออกบริการ) และการส่งออกสินค้านั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะกำลังซื้อของต่างประเทศ แนวโน้มไม่ได้ดีมากนัก เช่น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จีดีพีของโลกจะขยายตัวเพียง 3% ในปีนี้และปีหน้า

ส่วนจีดีพีของประเทศที่เป็นสมาชิก OECD (ประเทศที่มีฐานะดีเป็นส่วนใหญ่) นั้นก็จะขยายตัวได้เพียง 1.4% ทั้งในปีนี้และในปีหน้า 

สำหรับประเทศไทยนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีความสำคัญเป็นพิเศษ แต่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของจีนก็ดูไม่ค่อยดีเลย เราจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่ดูจะไม่ได้ลดลงเลยในปีนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (macro-economic policy) จึงจะต้องหันมาดูว่า “จุดยืน” ของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังนั้นเหมาะสมเพียงใด

• จุดยืนของนโยบายการคลัง งบประมาณปี 2566 ที่กำลังจะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นั้น เป็นนโยบายการคลังที่ตึงตัวและลดการกระตุ้นเศรษฐกิจลง เห็นได้จากการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 593,000 ล้านบาท เท่ากับ 3% ของจีดีพี ลดลงจากการขาดดุล 3.7% ของจีดีพีในปีก่อนหน้าที่ 695,000 ล้านบาท 

ความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย

แปลว่าแนวทางของนโยบายการคลังปัจจุบันจะลดกำลังกระตุ้นจากภาครัฐลงไปประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะต้องการรักษาวินัยทางการคลัง คำถามคือสมควรจะทำเช่นนั้นในตอนนี้หรือไม่ รัฐบาลมีหนี้สิน 60% ของจีดีพี ในขณะที่ครัวเรือนมีหนี้สิน 90% ของจีดีพี

• จุดยืนของนโยบายการเงิน การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีมาโดยตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแผ่วลง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเกือบเท่าตัวคือจาก 1.25% มาเป็น 2.25% แปลว่า นโยบายการเงินก็มีส่วนฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างร้อนแรงเกินไป เพราะกลัวว่าเงินเฟ้อจะทะยานขึ้นไปเกินกรอบนโยบาย 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้คือ เงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน กล่าวคือ เมื่อต้นปี เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.02% แต่ในเดือน ก.ค.ลดลงเหลือเพียง 0.38% ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3% ตอนต้นปีและลดลงมาเหลือเพียง 0.86% ในเดือน ก.ค.

การลดลงของเงินเฟ้อดังกล่าวแปลว่า “ดอกเบี้ยจริง” (ดอกเบี้ยนโยบาย ลบเงินเฟ้อพื้นฐาน) กระชากตัวสูงขึ้นอย่างมาก จาก -1.75% ตอนต้นปีมาเป็น +1.39% ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือน แปลว่า นโยบายการเงินของไทยตึงตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่งนโยบายการเงินนั้นจะต้องรอผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (policy impact) 9-12 เดือน

ความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทย

แปลว่าหากยังยืนยันการทำงบประมาณที่พยายามรักษาวินัยทางการคลังและยังยืนยันว่านโยบายการเงินจะมีจุดยืนเหมือนเดิม ก็แปลว่าทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินจะไม่ได้เป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่การจะพลิกนโยบายการเงินการคลังกลับไปอีกทางหนึ่ง ก็ไม่ใช่จะทำได้โดยง่าย เพราะวินัยทางการคลังก็เป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนการจะลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น ก็จะทำให้ดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าดอกเบี้ยสหรัฐอย่างมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออก และทำให้เงินบาทอ่อนค่า ควบคุมได้ยาก ในยุคที่ไทยไม่สามารถเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5.7% ของจีดีพี เช่นที่เคยทำได้ในยุคก่อนการระบาดของโควิด-19 ครับ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร