ส่องบทบาท-อำนาจ ‘รมว.คลัง’ สำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

ส่องบทบาท-อำนาจ ‘รมว.คลัง’ สำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

จากการที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด และกลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หนึ่งในกระทรวงสำคัญที่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด คือ “กระทรวงการคลัง” มีความท้าทายและสำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

Key Points

  • กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การยาสูบแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ฯลฯ
  • กระทรวงการคลัง ถือเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่าลงทุนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
  • กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3.13 แสนล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้น 10.05% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรร 2.85 แสนล้านบาท


เมื่อเอ่ยถึงตำแหน่ง “รัฐมนตรีการคลัง” หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ งบประมาณแผ่นดิน แต่ในความจริงแล้ว ตำแหน่งนี้กลับมีขอบเขตมากกว่าเรื่อง งบประมาณ และเป็นที่ท้าทายต่อผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง เนื่องจากต้องจัดการกับปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ การจัดเก็บภาษี เงินคงคลัง รวมไปถึงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระดับมหภาค

บทบาทกระทรวงการคลัง ที่เห็นชัดเจนในครั้งที่ผ่านมา คือ การที่กระทรวงการคลัง “บริหารเงินคงคลังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ผ่านการดำเนินนโยบาย “โครงการคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากวิกฤติโควิด-19 และก่อนหน้านั้น กระทรวงการคลังก็ดำเนินมาตรการแจกเงินเยียวยาโควิด-19 คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน

นอกจากนี้ อีกบทบาทของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่สุด รวมไปถึง “การจัดเก็บภาษี” โดยหากกระทรวงการคลังต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุน และช่วยเหลือภาคเอกชนก็จะเสนอเรื่อง “ลดภาษี” หรือ “ยืดระยะเวลาบังคับใช้รายการภาษีใหม่” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

 

ส่องบทบาท-อำนาจ ‘รมว.คลัง’ สำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

- อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ขุนคลังคนปัจจุบัน -

 

ขณะเดียวกัน หากกระทรวงการคลังต้องการจัดระเบียบสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเพิ่มแหล่งรายได้ให้รัฐบาล ก็อาจจะพิจารณา “ขึ้นภาษี” แทน โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้สูง

ย้อนไปช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ของไทย เมื่อปี 2540 กระทรวงการคลังถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่เคียงคู่ธนาคารแห่งประเทศไทยในการรับมือการโจมตีค่าเงินบาท ซึ่งในครั้งนั้น ไทยพ่ายแพ้สงครามการเงินจนต้องสูญเสียเงินสํารองระหว่างประเทศไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7 แสนล้านบาท

ในยุคนั้น บรรดาบริษัทบ้านจัดสรร อุตสาหกรรมก่อสร้าง สถาบันการเงิน ฯลฯ ในไทย ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งอย่างรุนแรง จนบางแห่งต้องปิดกิจการลง หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว สะท้อนว่าตำแหน่งนี้มีภาระใหญ่ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจชาติ

สำหรับตัวเต็งว่าที่รัฐมนตรีการคลังคนถัดไปคือ "ศิริกัญญา ตันสกุล" จากพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้

 

ส่องบทบาท-อำนาจ ‘รมว.คลัง’ สำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย - ศิริกัญญา ตันสกุล (เครดิต: เฟซบุ๊ค Sirikanya Tansakun) -

 

  • หน้าที่หลักของกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลัง มีภารกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมงบประมาณเบิกจ่ายภาครัฐ จัดเก็บภาษีต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรม บริหารหนี้สาธารณะ หนี้ภาคครัวเรือน จัดการอสังหาริมทรัพย์ของแผ่นดิน รวมไปถึงดูแลรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐกับเอกชน

ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3.13 แสนล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้น 10.05% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรร 2.85 แสนล้านบาท

กระทรวงการคลังยังมีหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแลมากมาย โดย 10 ส่วนราชการภายใต้กระทรวงการคลัง มีดังนี้

1.สำนักงานรัฐมนตรี รวบรวมข้อมูลการคลังและวิเคราะห์กลั่นกรองเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรี

2.สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่ดูแลงานราชการทั่วไปเกี่ยวกับกระทรวง

3.กรมธนารักษ์ ผลิตเหรียญกษาปณ์ ควบคุมเงินคงคลัง และดูแลที่ราชพัสดุ (อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน)

4.กรมบัญชีกลาง ควบคุมการเบิกจ่ายเงินแผ่นดินและหน่วยงานภาครัฐ

5.กรมศุลกากร ตรวจเก็บภาษีนำเข้า-ส่งออกสินค้า

6.กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างน้ำมัน รถยนต์ น้ำหอม หรือมีผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรม เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่ ฯลฯ

7.กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

8.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ บริหารรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง มีดังนี้

- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

- ธนาคารออมสิน

- ธนาคารอาคารสงเคราะห์

- ธนาคารกรุงไทย

- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

- บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

- องค์การสุรา (กรมสรรพสามิต)

- การยาสูบแห่งประเทศไทย

- โรงงานไพ่ (กรมสรรพสามิต)

- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

- บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด

9.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ บริหารจัดการหนี้สาธารณะ

10.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จัดทำนโยบายการคลังและเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเสนอต่อกระทรวงฯ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทยด้วยมูลค่าลงทุนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท และถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจสำคัญ ๆ ของประเทศ เช่น ท่าอากาศยานไทย (AOT) 70% บริษัท ปตท. ซึ่งประกอบธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก (PTT) 51.1% การบินไทย (THAI) 47.9% และทางยกระดับดอนเมือง (DMT) 22.1% เป็นต้น

อ้างอิง: mofmgronlinebangkokbiznews