แผนศูนย์กลางผลิต EV สะดุด ยื้อชง ครม. หนุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่

แผนศูนย์กลางผลิต EV สะดุด ยื้อชง ครม. หนุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่

แพ็คเกจส่งเสริมลงทุนแบตเตอรี่อีวีสะดุด ‘สุพัฒนพงษ์’ ยื้อเสนอ ครม.มาตั้งแต่ ก.พ.ที่ผ่านมา งบสนับสนุนตั้งโรงงาน 2.4 หมื่นล้าน ไม่คืบหน้า ฉุดความเชื่อมั่นลงทุน หวั่นกระทบศูนย์กลางการผลิตอีวีของภูมิภาค ‘สมาคมอีวี’ หวังรัฐบาลใหม่เดินหน้าต่อ สู่เป้าหมายผลิตอีวี 30@30

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ประชุมเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 เห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตและการสนับสนุนเงินให้กับผู้ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการบอร์ดอีวี ได้จัดทำร่างหนังสือเพื่อเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ดอีวี เพื่อส่งมติบอร์ดอีวีให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี บรรจุวาระให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยร่างหนังสือดังกล่าวส่งถึงนายสุพัฒนพงษ์ เพื่อเสนอ ครม.ภายในเดือน มี.ค.2566 ก่อนจะยุบสภา แต่นายสุพัฒนพงษ์ มีการนำเรื่องออกจาก ครม.ทำให้ไม่มีการพิจารณาจนกระทั่งยุบสภา

แหล่งข่าวจากบอร์ดอีวี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งมีมาตรการที่สำคัญคือ เงินสนับสนุนสำหรับการผลิตแบตเตอรี่นระดับ Cell Production ตามกำลังการผลิตสูงสุดและพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักของแบตเตอรี่ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณไม่เกิน 24,000 ล้านบาท 

การสนับสนุนเงินดังกล่าวให้บนหลักการ “First Come-First Seve” เพื่อจูงใจให้ผู้ขอรับสิทธิเร่งดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเร็ว สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็นประเภท 3 แบตเตอรี่ คือ

1.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักสูงกว่า 190 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้รับเงินสนับสนุน 600 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 800 บาท

2.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะ โดยน้ำหนักสูงกว่า 155 - 190 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้รับเงินสนับสนุน 500 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 700 บาท

3.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักตั้งแต่ 125 - 145 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้รับเงินสนับสนุน 400 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 600 บาท

ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย

ส่วนการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอรับสิทธิสามารถใช้สิทธินำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปมาก่อนและได้รับเงินสนับสนุนเพื่อให้สามารถเริ่มต้นการผลิตได้เร็ว โดยผู้ขอรับสิทธิจะต้องแสดงหลักฐานให้เชื่อได้ว่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยในอนาคต เช่น บัตรส่งเสริมการลงทุนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 4 สัญญาซื้อเช่าที่ดินและหลักประกันจากธนาคาร เป็นต้น

โดยกรมสรรพสามิตจะดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไปเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้ขอรับสิทธิซึ่งใช้สิทธินำเข้าแบตเตอรี่จะมีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในภายหลัง

ในขณะที่เงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ อาทิ

1.แบตเตอรี่ที่ผลิตต้องมีไลฟ์ไซเคิล ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยนับจาก 70% ของ Nominal Capacity ที่ Depth of Discharge ไม่ต่ำกว่า 80% ณ อุณหภูมิทดสอบ 20-25 องศาเซลเซียส โดยแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล จากห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ภายใต้ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ (ATTRIC) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC

2.การผูกเงื่อนไขหรือสร้างกลไกให้เกิดการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศระดับเซลล์ production สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

3.การกำหนดเงื่อนไขสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในมาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่นคุณสมบัติด้านประสิทธิภาพของรถยนต์ (ความสามารถในการชาร์จไฟหรือระยะทางต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง) หรือคุณสมบัติด้านความปลอดภัย

4.การกำหนดให้แบตเตอรี่เป็นมาตรฐานบังคับเพื่อควบคุมคุณภาพของแบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศและนำเข้า

5.การกำหนดระบบการกำจัดแบตเตอรี่หรือกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่โดยอ้างอิงกฎหมายที่มีอยู่แล้วในการกำกับดูแล เช่น กฎกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (โรงงานลำดับที่ 105 และ 106) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535

6.การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสินแร่ หรือวัตถุดิบหายากจากแบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

ยังไม่มีผู้ลงทุนโรงงานใหญ่

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้บันทึกรายงานการประชุมระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตแบตเตอรี่แสดงความประสงค์ที่จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ที่มีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 8 GWh/ปี ในประเทศไทยตามเป้าหมายการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ตั้งไว้ จึงเห็นควรให้ชะลอการดำเนินมาตรการดังกล่าวจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าจะมีการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ

ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต นำมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไปหารือกับผู้ที่สนใจลงทุนให้เกิดความชัดเจนและนำเสนอมาตรการดังกล่าวพร้อมทั้งเสนอขอใช้งบประมาณต่อ ครม.

รอ“สุพัฒนพงษ์”ส่งชง ครม.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า คณะทำงานบอร์ดอีวี ได้มีการแก้ไขหนังสือเพื่อทำเรื่องเสนอไปตามขั้นตอนปกติ ถึงมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ให้กับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ดอีวี เพื่อให้นายสุพัฒนพงษ์ จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบและให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีผู้ผลิตแบตเตอรี่หลายรายกำลังรอมาตรการดังกล่าว และถ้าล่าช้าอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนและการเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีของอาเซียน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ ประกอบด้วย

1.ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 หรือ การผลิต 30% ในปี 2030 (พ.ศ.2573) ที่ชัดเจนและออกมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

2.ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบอร์ดอีวีได้อนุมัติไปเมื่อปีที่แล้ว

3.การที่ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีนและค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว

เอกชนทำใจต้องรอรัฐบาลใหม่

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand - EVAT) กล่าวว่า เข้าใจว่าการทำงานของรัฐบาลอยู่ช่วงรักษาการจึงพิจารณางบประมาณผูกพันไม่ได้ ดังนั้น อาจต้องรอให้ชุดใหม่มาพิจารณามาตรการตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566

“เข้าใจว่ารัฐบาลขณะนี้ถือเป็นช่วงคาบเกี่ยว ดังนั้น อะไรที่เกี่ยวกับงบประมาณอาจต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาตัดสินใจ ดังนั้น เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณจึงต้องค้างไปก่อน”

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าแนวทางที่ได้ผ่านบอร์ดอีวีมาแล้วนั้น ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลชุดใหม่จะไม่สนับสนุน เพราะมาตรการผ่านการพิจารณาโดยบอร์ดอีวี ที่มีตัวแทนแทบจะทุกกระทรวงอยู่แล้ว ดังนั้น หลักการของผู้ทำงานก็จะดูถึงความเหมาะสม และต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และกำหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับไว้ระดับหนึ่ง เพียงแค่รอครม. เห็นชอบเท่านั้นเองว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่

นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลชุดใหม่น่าจะเดินหน้าสนับสนุนมาตรการต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบมาตรการต่าง ๆ และการเติบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยมีมาตรการที่เติบโตไวกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการสนับสนุนของบอร์ดอีวีทั้งงบประมาณและภาษี ถือว่าบอร์ดอีวีได้เข้ามาขับเคลื่อนในทุกโครงการจากการทำงานร่วมกันของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

“หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะสนับสนุนต่อไป ระหว่างรอ ครม.อนุมัติ กลุ่มผู้ผลิต ก็หารือบีโอไอ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังถึงกฎระเบียบเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เท่าที่ดูแนวโน้มค่ายรถยนต์ที่เข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งค่ายรถหน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างเข้ามาตามนโยบายที่มีปัจจุบัน ดังนั้น คาดว่าจะต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ แน่นอน อีกทั้ง หากมาตรการแบตเตอรี่เริ่มก็จะซัพพอร์ทได้อีก”