‘GEN Y’ กับทัศนคติ ‘ของมันต้องมี’  70% เงินไม่พอใช้ - จ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต

‘GEN Y’ กับทัศนคติ ‘ของมันต้องมี’   70% เงินไม่พอใช้ - จ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต

เปิดข้อมูลเครดิตบูโรฯ สศช.ห่วงเจนวาย - เริ่มทำงาน ก่อหนี้สูง เงินไม่พอใช้ 70% ยอมเป็นหนี้บัตรเครดิต หาซื้อสินค้าใช้ทัศนคติ "ของมันต้องมี" ทำก่อหนี้เกินตัว ห่วงติดวังวน กับดักหนี้ แนะภาครัฐมุ่งนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ เตือนอย่าทำนโยบายเร่งการก่อหนี้ประชาชน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนถูกมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และจะเป็น “ระเบิดเวลา” ทางเศรษฐกิจลูกต่อไป ปัจจุบันข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 90.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีมูลค่ากว่า 15.96 ล้านล้านบาท โดยหนี้ครัวเรือนไทยเคยเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 94.7% ของจีดีพีสูงสุดเป็นอันดับ 8 จาก 70 ประเทศทั่วโลกในปี 2564 ซึ่งแม้ปัจจุบันจะลดลงเหลือ 90.6% ต่อจีดีพีแต่ก็ถือว่ายังสูงมาก และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้หากใช้ข้อมูลหนี้สินจากบริษัทข้อมูล เครดิตแห่งชาติ จำกัด (NBC)  หรือ “เครดิตบูโร” จะทำให้เห็นข้อมูลการเป็นหนี้ของแต่ละกลุ่มช่วงอายุ และหนี้สินแต่ละประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้นที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ข้อมูลจาก NBC ชี้ว่าคนในกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น

 สอดคล้องกับการศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีในปี 2562 ที่พบว่าคนเจนวาย หรือคนที่มีอายุระหว่าง 23 – 38 ปี ที่มีทัศนคติในการใช้จ่ายและซื้อสินค้าว่า “ของมันต้องมี” ซึ่งกว่า 50% ของคนเจนวายมีเงินไม่พอใช้และเลือกที่จะกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่าย และพบด้วยว่ากว่า 70% มีการผ่อนชำระสินค้า และบริการแบบเสียดอกเบี้ย

ซึ่งพฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าคนในกลุ่มนี้มีทัศนคติในการใช้จ่ายที่ผิดและต้องเฝ้าระวังการก่อหนี้ เพราะว่าการก่อหนี้บัตรเครดิตนั้นกู้ยืมง่ายใช้หลักประกันต่ำ ผู้กู้เสียดอกเบี้ยในอตราทที่สูงมาก ทำให้มีแนวโม้มของการสะสมหนี้มากขึ้น และติดกับดักหนี้ในที่สุด

สศช.ยังระบุด้วยว่าแนวทางการแก้หนี้สินของคนกลุ่มเจนวายต้องเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ โดยการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปเพื่อให้ผู้ที่มีหนี้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับการลดการก่อหนี้ใหม่ลงด้วย ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นประชาชนติดกับดักหนี้ 

‘GEN Y’ กับทัศนคติ ‘ของมันต้องมี’   70% เงินไม่พอใช้ - จ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต

 

เสนอแนวทางลดก่อหนี้ประชาชน

นอกจากนี้ สศช.ยังเสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนที่เพิ่มขึ้นว่าภาครัฐควรจะมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเข้มงวด

โดยปัจจุบัน ธปท. ได้มีการจัดทำเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ที่จะเป็นแนวทางให้เจ้าหนี้อนุมัติสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดช่วงเวลาการเป็นหนี้ คือตั้งแต่ก่อนการเป็นหนี้ อาทิ การเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อาจเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้ที่เกินตัว

ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังในระหว่างเป็นหนี้ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่หนี้มีปัญหา ซึ่งเกณฑ์จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

 อย่างไรก็ตามควรมีการกำกับดูแลให้ผู้ปล่อยสินเชื่อทุกกลุ่มปฏิบัติตามแนวทาง ดังกล่าวอย่างรัดกุม รวมถึงมีการติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ และเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพ ของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันในปี 2565 มีจำนวนลูกหนี้ที่เป็น NPL เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคนจากปี 2562 แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีมาตรการของรัฐที่ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนพฤติกรรมแก้หนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามีครัวเรือนที่เป็นหนี้รายใหม่กลายเป็นหนี้เสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้กิดการปรับโคงสร้างหนื้อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้

รวมทั้งส่งเสริมการปลูกฝัง "Financial literacy" และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียน ควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้และ สามารถก่อหนี้ได้ ควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในยามวิกฤตและเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุ