สศอ. ปรับลดคาดการณ์ MPI-GDP ภาคอุตฯ ปี 66 ติดลบ 1.5-2.5%
สศอ. เผยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัว กดดันดัชนี MPI เดือน ก.ค. 2566 อยู่ที่ 91.14 หดตัว 4.43% รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาพลังงาน พร้อมปรับประมาณการปีนี้ ดัชนีฯ หดตัว 2.8-3.8% และ GDP อุตฯ หดตัว 1.5-2.5%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ค. ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลง 4.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.19% ลดลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 เดือนแรกอยู่ที่ 60.38% เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลง หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากกำลังซื้อในตลาดโลกลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก
รวมถึงรายได้เกษตรกรในเดือนมิ.ย. 2566 ที่ยังคงหดตัว 1.1% เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงลดลง ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อผู้ประกอบการกลางน้ำถึงปลายน้ำของไทย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในประเทศยังคงขับเคลื่อนได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศหลังจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7%
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) เดือนก.ค. 2566 มีมูลค่าอยู่ที่ 16,969.70 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก คือ รถยนต์ ขยายตัว 5.34% ตามการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 30.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยตลาดส่งออกมีการเพิ่มขึ้นในแถบตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกากลางและใต้ ส่วนการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ลดลง 8.8% เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ
ขณะที่ การกลั่นน้ำมัน ขยายตัว 4.99% จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านเหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัว 7.11% จากเหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม โดยปรับตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกในรอบ 19 เดือน หลังราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเหล็กนำเข้าลดจำนวนลง
“รวม 7 เดือนแรกของปี 2566 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัว 4.54 % ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี2566 คาดว่าจะหดตัว 2.8-3.8% ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ครึ่งปีแรก ปี 2566 หดตัว 3.2% ทำให้คาดว่าปี 2566 จะหดตัวร้อยละ 1.5-2.5%
โดยมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งปัญหาภาคการเงินของประเทศต่างๆ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกัน ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวดี การลงทุนในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมีความชัดเจนทางการเมือง
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.34% จากรถยนต์นั่งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก ที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.99% จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.11% จากเหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน หลังจากผู้รับซื้อเหล็กภายในประเทศลดการนำเข้าเหล็ก และใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศแทน
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.40% จากน้ำตาลทรายขาว และขาวบริสุทธิ์ตามความต้องการบริโภคที่มีมากขึ้นจากทั้งภาคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยว
เครื่องปรุงอาหารประจำโต๊ะ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.09% จากซอสพริก และผงชูรส เป็นหลัก โดยขยายตัวจากตลาดส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก รวมถึงความต้องการในประเทศหลังการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง