โครงการส่งน้ำระบบท่อตะวันออกสะดุด ห่วงไตรมาส1/67“วงษ์สยาม”สูบน้ำไม่ได้
โครงการส่งน้ำระบบท่อตะวันออก สะดุด หวั่น วงษ์สยาม สูบน้ำไม่ได้ช่วงไตรมาสแรก แนะรัฐบาลใหม่ตั้งหน่วยงานรัฐตัวแทนกลางเจรจา ขอใช้สถานีสูบของอีสวอเตอร์
แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ได้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์ เพื่อดำเนินโครงการ โครงการท่อส่งน้ำหลักในภาคตะวันออกหรืออีอีซี ตั้งแต่ปี 2567 ต่อจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ที่จะหมดสัญญาลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่า บริษัทวงษ์สยามจะไม่สามารถดำเนินการส่งน้ำให้กับผู้ประกอบการตามสัญญาได้ในช่วงระยะแรกที่มีการเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้เป็นผลมาจากโครงสร้างน้ำในภาคตะวันออก ที่ดูแลโดยกรมชลประทาน จะมีลักษณะเป็นอ่างพวง ประกอบด้วย 1. ผันน้ำอ่างฯ ประแสร์ - อ่างฯ คลองใหญ่ จ.ระยอง - อ่างฯ หนองปลาไหล จ.ชลบุรี
ใช้สถานีสูบน้ำอีสวอเตอร์ไม่ได้
ในกรณีที่ปริมาณน้ำในบางช่วงไม่เพียงพอ กรมชลประทาน จะใช้วิธีการผันน้ำจากอ่างฯ คลองใหญ่ จ.ระยอง มายังอ่างฯ หนองปลาไหล จ.ชลบุรี หรือสูบกลับคลองสะพานเติม อ่างฯ ประแสร์ การสูบกลับวัดละหารไร่ (แม่น้ำระยอง) มาเสริมปริมาณน้ำให้แก่อ่างฯ หนองปลาไหล สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต/คลองชลประทานพานทองมายังอ่างฯ บางพระ และ สูบผันน้ำจากแม่น้ำบางประกงมายังอ่างฯ บางพระ
การผันน้ำ การผันน้ำลักษณะนี้ กรมชลประทานะติดตั้งสถานีสูบน้ำไฟฟ้าขนาดใหญ่ บริการให้กับผู้ใช้น้ำ แต่การให้บริการน้ำระบบท่อ จำเป็นต้องมีสถานีสูบน้ำไฟฟ้าสำรอง ซึ่งก่อนหน้านี้ก่อสร้างโดย บริษัทอีสวอเตอร์ ที่มีอยู่ตามเส้นทางการจ่ายน้ำของบริษัทเอง โดบสถานีสูบน้ำเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยในการผันน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานเองยังมีการประสานกับการประปาภูมิภาค เพื่อใช้สถานีสูบน้ำไฟฟ้าในบางจุด
โดยอาจกล่าวได้ว่า ทั้ง 3นี้มีการพึ่งพากันและกันเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการโดยกรมชลประทานมีการจัดเก็บค่าน้ำพระราชบัญญัติ(พรบ.)การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ละ 0. 50 บาท
“ทั้งอีสวอเตอร์ กรมชลประทานจะประสานกรณีที่มีค่าใช้จ่ายของกันและกันเกิดขึ้นเช่นค่าดูแลปั๊มน้ำ การสูบน้ำกรณีที่ต้องผันน้ำในบางช่วงที่รีบด่วน เช่น น้ำทะเลหนุน ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ต้องใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง"
แนะรัฐตัวกลางเจรจาวงษ์สยาม-อีสวอเตอร์
ดังนั้นเมื่อบริษัทวงษ์สยามเข้ามารับสัมปทานต่อจากบริษัทอีสวอเตอร์ โดยที่ไม่มีสถานีสูบน้ำสำรอง จะทำให้ไม่สามารถจัดส่งน้ำให้กับผู้ประกอบการได้ ในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านประมาณเดือน ม.ค. - มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงแล้งที่ปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอกับการลำเลียง
ปัญหาทั้งหมดนี้ไม่เหมาะสมที่จะให้ภาคเอกชนหารือกันเอง แต่ควรมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางซึ่งทางบริษัทวงษ์สยามได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการ โดยกรมชลประทานไม่มีสัญญาการเก็บค่าใช้จ่ายจากบริษัทวงษ์สยามกรณีที่ต้องผันน้ำจากแหล่งอื่น เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.ชลประทานหลวงระบุให้เก็บได้เฉพาะค่าน้ำเท่านั้น
ในขณะที่สทนช. ซึ่งสามารถเจรจาได้ภายใต้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับให้จดทะเบียนการใช้น้ำเชิงพาณิชย์ ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจบังคับได้ ส่วนการเจรจาตาม พรบ. อีอีซี นั้นเบื้องต้นอีอีซีจะไม่อยากมีบาทบาทในเรื่องน้ำ เพราะหน่วยงานอื่นรับผิดชอบโดยสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการโดยควรกำหนดหน่วยงาน รัฐเป็นตัวกลางในการประสาน
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า บริษัทวงษ์สยามได้ทำสัญญากับชลประทานจังหวัดระยองเพื่อขออนุญาตสูบน้ำจากอ่างหนองปลาไหล รวม 30 ล้านลบ.ม. ต่อปี อัตราค่าน้ำ 0.50 บาทต่อลบ.ม. เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกรมชลประทานเห็นว่าเป็นปริมาณที่สามารถดำเนินการได้ ไม่กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก จึงเห็นชอบให้ทำสัญญา
ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ชลประทานหลวง สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าน้ำได้ทั่วราชอาณาจักรตามวัตถุประสงค์ ที่ผ่านมาจะทำสัญญาคราวละ 5 ปี มีเพียงบริษัทวงษ์สยามเท่านั้นที่ทำสัญญา 1 ปี