กรมชลฯผวาภัยแล้ง วอน 'งดปลูก' ข้าวนาปี
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 41,993 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (31 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 41,993 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 34,344 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,124 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 14,747 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการทำนาปี จนถึงขณะนี้มีการทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.96 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.90 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.49 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.53 ล้านไร่ ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มใน 4 ลำน้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ยังคงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 และอาจลากยาวไปจนถึงปีหน้า จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ควบคู่ไปกับการดำเนินการตาม 5 มาตการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนของกรมชลประทาน ได้แก่
1. น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดทั้งปี
2.บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก
4.กักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ให้ได้มากที่สุด
5.บริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด การจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำหรือภาชนะสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต