การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เมื่อจีดีพีของประเทศไทยขยายตัวเพียง 1.8% ในไตรมาส 2 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว (4-5% ต่อปี) และต่ำกว่าการคาดหวังอย่างมาก ก็ทำให้มีแรงผลักดันให้รีบกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่างๆ
เช่น การแจกเงินดิจิทัล การงดเว้นวีซ่าชั่วคราวให้กับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย การลดราคาพลังงานและความพยายามส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นต้น
การดำเนินนโยบายดังกล่าวนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอนในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่จะไม่ได้แตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากนัก
ซึ่งหากทำนโยบายคล้ายๆ เดิม ก็น่าจะได้ผลไม่แตกต่างจากที่เกิดขึ้นในอดีตมากนัก ดังนั้น ผมจจึงได้เก็บตัวเลข การขยายตัวของจีดีพีไทย ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยการขยายตัวจริง (ลบเงินเฟ้อ) ของเศรษฐกิจไทยทุก 10 ปี (ตารางประกอบ)
จะเห็นได้ว่า จีดีพีของไทยขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในทศวรรษนี้ (2020-2029) หากจีดีพีของไทยขยายตัวได้ 4% ต่อปีในช่วงข้างหน้า คือช่วงปี 2023-2029 จีดีพีของไทยในทศวรรษนี้ก็จะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.6% ต่อปี
ประเด็นคือ เศรษฐกิจไทยโตช้าลงมาเรื่อยๆ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ผมเคยนึกว่าประเทศไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ แต่มาวันนี้ เรากำลังที่จะต้องแข่งขันกับเวียดนาม
กล่าวคือในช่วง 2000-2022 นั้น จีดีพีของไทยคิดเป็นเงินดอลลาร์ขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 6.4% ต่อปี (รวมเงินเฟ้อด้วย) ในขณะที่จีดีพีของเวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 12.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ผลที่ตามมาคือในปี 2000 จีดีพีของไทยเท่ากับ 126,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าจีดีพีของเวียดนาม 4 เท่าตัว กล่าวคือ จีดีพีเวียดนามอยู่ที่ 31,000 ล้านดอลลาร์ แต่ 22 ปีต่อมา ในปี 2022 จีดีพีของไทยเท่ากับ 495,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับจีดีพีของเวียดนามที่ 409,000 ล้านดอลลาร์
ผมประเมินของผมเองแบบพยายามเข้าข้างประเทศไทย คือคำนวณให้จีดีพีไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าขยายตัว เฉลี่ย 7.3% ต่อปี (ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 1% ต่อปี) แต่กดให้จีดีพีของเวียดนามขยายตัวลดลงมาที่ 9.4% ต่อปี (ลดลงไป 3% ต่อปี)
หากเป็นเช่นนั้นจริง จีดีพีของไทยและเวียดนามจะมีขนาดเท่ากันที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2032 (อีก 10 ปีข้างหน้า) ทำให้ผมแปลกใจน้อยลงที่เห็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เลือกที่จะเดินทางไปเยือนเวียดนามหลังจากการประชุมจี20 ที่ผ่านมา
กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยคงจะต้อง “คิดใหม่ทำใหม่” หากต้องการจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว (จริง) ประมาณ 4-5% ต่อปี หากรวมเงินเฟ้อประมาณ 3% ต่อปี ก็หมายความว่าจะต้องพยายามทำให้จีดีพีคิดเป็นเงินดอลลาร์ขยายตัวประมาณ 7-8% ต่อปี
ปัจจัยอะไรน่าจะเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว? เราคงจะนึกถึงหลายตัวแปร เช่น ราคาพลังงานแพงหรือกำลังซื้อของต่างประเทศตกต่ำหรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ
แต่ในความเห็นของผมนั้น ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นปัจจัยพื้นฐานจริงๆ คือ “คน” เห็นจากตารางซึ่งประเมินประชากรของไทยจำแนกตามอายุ โดยเปรียบเทียบตัวเลขปัจจุบันกับการคาดการณ์
ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจคือ คน ดังนั้น เมื่อจำนวนคนไทยที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงมากถึง 6.7 ล้านคนในประมาณ 20 ปีข้างหน้า จึงน่าจะเป็นความท้าทายหลักในการดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
กล่าวคือเราจะต้องเพิ่มศักยภาพให้กับคนในวัยทำงาน ผมจึงได้สนับสนุนให้มีนโยบายและมาตรการที่จะช่วย upskill และ reskill คนไทย
หากจะมีทางเลือกในมิติใหม่เช่นที่ต้องการจะขับเคลื่อนเรื่องของ soft power ในด้านกีฬา (เช่น มวยไทย) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สมควรสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะผมก็เห็นด้วยว่าคนไทยอาจมีความถนัดในด้านของความสร้างสรรค์ การให้บริการ (services industry) มากกว่าการจะมุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรม (เช่น การเป็น Detroit of Asia)
ประเด็นหลักคือ คงจะต้องวางรากฐานการศึกษาให้ดีเยี่ยมที่สุดสำหรับเด็กไทยตั้งแต่เกิดจนอายุ 14 ปีก่อน จึงจะมีความพร้อมและการมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี ย่อมจะเปิดโอกาสให้เลือกการฝึกฝนและการสร้างความชำนาญเฉพาะทางที่ตรงกับศักยภาพได้เป็นอย่างดีที่สุด
แต่ ณ วันนี้เราเห็นคะแนนวิชาพื้นฐานของเด็กไทยที่วัดโดย Pisa score ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในวิชาพื้นฐานหลักคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การพัฒนาคนของประเทศไทยจึงคงจะต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง
ทั้งในด้านของการศึกษาของเด็กไทย และการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางให้คนที่ปัจจุบันอยู่ในวัยทำงานสามารถ upskill และ reskill หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนไปสู่การทำธุรกิจใหม่ของตัวเอง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องหันมาช่วยให้เกิดขึ้น
อีกด้านหนึ่งคือการดูแลผู้สูงอายุ (เช่นผม) ซึ่งจะขอเขียนถึงในครั้งต่อไปครับ