เงินเฟ้อ ส.ค.บวก 0.88% 'พาณิชย์' ส่งสัญญาณขยับตัวขึ้น รับรัฐบาล ‘เศรษฐา’

เงินเฟ้อ ส.ค.บวก 0.88% 'พาณิชย์' ส่งสัญญาณขยับตัวขึ้น รับรัฐบาล ‘เศรษฐา’

"พาณิชย์" เผย เงินเฟ้อเดือน ส.ค.สูงขึ้น 0.88 % จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น คาดเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ปรับขึ้นเล็กน้อย จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งลดค่าน้ำมัน ค่าไฟ ค่าโดยสารรัฐบาลใหม่ ส่งผลต่อเงินเฟ้อ คงเป้าเงินเฟ้อทั้งปี 1.0 – 2.0 %  ค่ากลาง 1.5%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2566 เท่ากับ 108.41 สูงขึ้น 0.88% ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.79% ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 (นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566) สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันของต้นทุนการผลิตที่นอกเหนือจากราคาพลังงานน้อยลง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2566 ที่สูงขึ้น 0.88%  มาจากหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.98%  ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง

รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก/สองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล เช่น แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน

เงินเฟ้อ ส.ค.บวก 0.88% \'พาณิชย์\' ส่งสัญญาณขยับตัวขึ้น รับรัฐบาล ‘เศรษฐา’

ค่าแต่งผมชายและสตรี และค่ายา (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ) ราคายังคงอยู่ระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เสื้อบุรุษและสตรี เสื้อและกางเกงเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว ไม้ถูพื้น) และหน้ากากอนามัย

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียง 0.74 %  ราคาชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง กระเทียม เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง)  

ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี ผักคะน้า) 

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนก.ค.ม 2566) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย.2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ

รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือน ก.ย.2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ทั้งลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า  ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0 – 2.0 %  ค่ากลาง 1.5% และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง