เจาะตลาด 'เศรษฐกิจสีเงิน' ในไทย 6 ธุรกิจรับอานิสงค์ 'สังคมผู้สูงอายุ'

เจาะตลาด 'เศรษฐกิจสีเงิน' ในไทย 6 ธุรกิจรับอานิสงค์ 'สังคมผู้สูงอายุ'

"ดีลอยท์"ชวนจับเทรนด์ธุรกิจสังคมผู้สูงอายุ หลังไทยเข้าสู่สั่งคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เผย 6 ธุรกิจได้ประโยชน์จากสังคมสูงอายุ แต่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับความท้าท้าย แรงงานลด ตลาดในประเทศหดตัว ชี้เทรนด์ผู้สูงอายุหันสู่การเป็นดิจิทัลมากขึ้น

“เศรษฐกิจสีเงิน” หรือ “เศรษฐกิจสูงวัย” เป็นกลุ่มที่น่าจับตาในแวดวงธุรกิจ จากการที่สัดส่วนผู้สูงอายุได้เพิ่มมากขึ้นแทบจะทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส โดยตัวอย่างประเทศเหล่านี้ ใช้เวลา 45 ปี 69 ปี และ 115 ปี ในการเปลี่ยนจากสังคมผู้สูงอายุ (aging society) สู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society)

 

ในขณะที่ไทยได้ใช้เวลาไปเพียง 19 ปี ซึ่งสิงคโปร์กับจีนจะใช้เวลา 25 ปีเท่านั้น สหประชาชาติได้ระบุว่า สังคมผู้สูงอายุ (aging society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรในพื้นที่ทั้งหมด สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) คือเพื่อกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนมากกกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด และเมื่อมีสัดส่วนเกิน 20% จะถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด (super-aged society) ภายในปี 2573 ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะครองสัดส่วน 32% ของประชากรทั้งหมดของเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ อัตราการเกิด ในหลากหลายพื้นที่ได้ลดลง ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้สูงกว่าอัตราการเกิดตั้งแต่ก่อนปี 2563 แล้ว ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม จะสูงกว่าอัตราดังกล่าวหลังปี 2593

ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร และ ทัศดา แสงมานะเจริญ ดีลอยท์ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า จากแนวโน้มที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้สูงอายุเอง และธุรกิจต่าง ๆ เริ่มพิจารณาใหม่ถึงลักษณะการทำงาน เช่น การยืดอายุการเกษียณออกไป

ทั้งนี้แนวโน้มของผู้เกษียณอายุที่ยังทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. การขยายเวลาการทํางานเนื่องจากค่าครองชีพสูง เช่น 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เกษียณแล้วในสหราชอาณาจักรในช่วงโควิด-19 กลับมาทํางานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเงิน
  2. การขาดแรงงานของบริษัทต่าง ๆ เช่น ประชากรแรงงานที่ลดลงในเอเชีย ได้จูงใจให้องค์กรต่าง ๆ จ้างพนักงานที่เกษียณอายุแล้ว
  3. รัฐบาลปรับเพิ่มเกณฑ์เกษียณอายุ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กําลังวางแผนที่จะเพิ่มอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการจัดการเพื่อรับมือกับประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วของประเทศ

เศรษฐกิจสีเงินในประเทศไทย

ข้อมูลจากกรมผู้สูงอายุชี้ว่า ไทยมีจํานวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี 2565 12.7 ล้านคน หรือ 19% ซึ่งประกอบไปด้วยช่วงอายุ 60-69 กว่า 7 ล้านคน เมื่อพิจารณาถึงรายได้จากแหล่งที่มาของผู้สูงวัยทั้งหมด พบว่า 1 ใน 3 จะมาจากการทำงาน และอีก 1 ใน 3 มีรายได้มาจากบุตร และประมาณ 1 ใน 4 ของผู้สูงวัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบุตรในครัวเรือนนั้น ได้รับเพียง 1,000 ถึง 4,999 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่า poverty line ของธนาคารโลกที่ระบุไว้ประมาณ 27,000 บาทต่อปี

 

สำหรับผู้สูงวัยที่ยังทำงานอยู่ มีความนิยมทำเกษตรและประมง (60.5%) และพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า (18.2%) มากที่สุด และหากจำแนกตามสถานภาพการทำงาน พบว่า 65% ของผู้สูงวัยที่ยังทำงาน ทำธุรกิจส่วนตัว 19% ช่วยธุรกิจในครัวเรือน 13% เป็นลูกจ้าง และ 3% เป็นนายจ้าง

 

4 กลุ่มของเศรษฐกิจสูงวัยประเทศไทย – ตามมูลค่าตลาดและขนาดประชากรเป้าหมาย

มูลค่าตลาดและขนาดประชากรของกลุ่มเศรษฐกิจสูงวัยไทย ดีลอยท์แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยพิจารณาจากความมั่งคั่งสุทธิ และการปรับตัวต่อเทคโนโลยี ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่มีงบจำกัด/มั่งคั่ง และ กลุ่มเท่าทันเทคโนโลยี/ล้าหลัง ซึ่งเราคาดการณ์ว่า กลุ่มที่มีความมั่งคั่งและเท่าทันต่อเทคโนโลยี จะมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท จากจำนวน 6.7 แสนคนในปี 2566

ในขณะที่กลุ่มที่มีงบจำกัดและล้าหลัง อาจมีมูลค่าเพียง 32.6 พันล้านบาท จากจำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ทั้งนี้ อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้สูงวัยกำลังปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากรายงานของสสช.ที่ระบุว่าประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการใช้อินเทอร์เน็ต 56.3% ในไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งเพิ่มจากไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 53.6%

ดังนั้น การพิจารณาว่าเศรษฐกิจสีเงินเป็นสิ่งที่เหมือน ๆ กันเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ภาคส่วนต่าง ๆ จำเป็นต้องพัฒนา ปรับแต่งให้เหมาะกับเป้าหมายและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มีการกำหนดกลยุทธ์ตามภาคส่วนเพื่อปรับเปลี่ยนการเข้าสู่ตลาดและการเปลี่ยนแปลงองค์กร นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าดิจิทัลจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งจะไม่ใช่เพียงเพราะเศรษฐกิจสูงวัยได้กลายเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังเป็นเพราะดิจิทัลขับเคลื่อนความคล่องตัวและช่วยเพิ่มความเร็วสู่การเปลี่ยนแปลง หนึ่งในงานวิจัยโดย Deloitte และ MIT Sloan Management Review ระบุว่าองค์กรที่เติบโตทางดิจิทัลไม่เพียงสร้างนวัตกรรมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างออกไปด้วย องค์กรที่เติบโตทางดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสองเท่าในการสร้างความร่วมมือกับผู้เล่นในระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม

เมื่อเราทราบแล้วว่าเศรษฐกิจสูงวัยกำลังเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น องค์กรที่เติบโตทางดิจิทัลแล้วมีโอกาสที่จะเจาะตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น หรือสามารถลดความเสี่ยงจากการถูกดิสรัปจากประชากรสูงวัยในสัดส่วนที่เปลี่ยนไป

 

แนวโน้มธุรกิจสำหรับผู้สูงวัย

นอกจาก 4 กลุ่มเศรษฐกิจสูงวัย เรายังมองธุรกิจสำหรับผู้สูงวัยเป็น 6 ธุรกิจหลัก ดังนี้

  1. สุขภาพ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นการตั้งธุรกิจใหม่ทั้งหมด หรือขยายการบริการจากธุรกิจที่มีอยู่แล้ว
  2. อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัยที่ปรับรูปแบบการใช้งาน และเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย บ้านพักคนชรา ชุมชนผู้สูงอายุ
  3. สันทนาการและการพัฒนาตนเอง เช่น การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย การเรียนรู้ งานฝีมือ กิจกรรมอัพสกิลสําหรับผู้สูงวัย
  4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์ติดตามผู้สูงวัย อุปกรณ์การแพทย์สำหรับการช่วยเหลือผู้สูงวัย
  5. ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เช่น การจัดทำเจตจํานงในการดํารงชีวิต
  6. ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) การประกันภัยสำหรับผู้สูงอายุ

 

นอกจากโอกาสที่ทางธุรกิจต่าง ๆ จะได้รับจากสังคมสูงวัย อย่างไรก็ตาม นั่นหมายถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสัดส่วนประชากรศาสตร์อย่างมากด้วย กลุ่มคนวัยทำงานที่ลดลงจะเชื่อมถึงผู้สืบทอดธุรกิจจำนวนลดลงเช่นกัน

ดังนั้นธุรกิจควรมีการวางแผนการสืบทอดตำแหน่งที่พร้อมและเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น จากที่ไทยมีประชากรผู้สูงวัยที่มีงบจำกัดหรือมีรายได้ต่ำเป็นจำนวนมาก ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนควรช่วยเหลือสังคมไทย และพิจารณาถึงวิธีการลดความท้าทายของประชากรวัยทำงานในอนาคต และเพื่อให้แน่ใจว่าสังคมเราจะไม่ได้อยู่ในสถานะ “แก่ก่อนรวย”