ความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจ ของรัฐบาล ‘เศรษฐา1’
การแถลงข่าวหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นการแถลงข่าวครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลต่อหน้าสื่อมวลชน มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ภาพนายกฯเศรษฐา พร้อมด้วย ครม.เศรษฐา 1 ยืนแถลงข่าวพร้อมกัน นายกรัฐมนตรีบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน จะทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขณะเดียวกันรัฐบาลนี้ไม่มี “Honeymoon period” ต้องทำงานหนักทันที
ผู้เขียนมีโอกาสได้ถามนายกรัฐมนตรีในวันนั้นว่าจะนายกฯจะนั่งเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลเองหรือไม่ เพราะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศมีเยอะเหลือเกิน โดยนายกฯตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าขอไปปรึกษากับรองนายกฯท่านอื่นๆ แล้วหลังแถลงนโยบายจะแจ้งให้ทราบ
อย่างไรก็ตามในประเด็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั้นไม่ต้องรอนาน เพราะ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง จากพรรคเพื่อไทยนั้นตอบคำถามนี้ให้แล้วว่า เท่าที่คุยกับท่านนายกฯท่านจะนั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเอง
สาเหตุที่ต้องถามเกี่ยวกับการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของนายกฯส่วนหนึ่งต้องการความชัดเจน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม และภาคธุรกิจ เพราะในครั้งนี้นายกฯนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แน่นอนว่าหน้าที่ในด้านการบริหารเศรษฐกิจ และการเงินการคลังของประเทศอยู่บนบ่าทั้งสองข้างในขณะที่ต้องบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวมไปด้วยถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญ
ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทยมีนายกรัฐมนตรีแค่คนเดียวเท่านั้นที่นั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือท่านปรีดี พนมยงค์ ในช่วงปี 2489 แต่ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆเพียงแค่ 6 เดือน
นอกจากนี้หากดูองคาพยพและการจัดวางตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนมีตำแหน่งที่ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆทั้งสิ้นยกเว้นสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่มีตำแหน่งเดียวคือรองนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นล้วนแต่ควบ 2 เก้าอี้ทั้งรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการไม่ว่าจะเป็น
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่าในการจัดโครงสร้างนี้ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่หลักในการดูแลเศรษฐกิจมหภาค แม้ว่าตอนแรกการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมนั้นจะมอบหมายให้ดร.ปรานปรีย์เป็นคนที่ดูแล แต่เมื่อ ดร.ปานปรีย์ต้องดูแลงานต่างประเทศด้วย งานด้านนี้นายกรัฐมนตรีคงต้องดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเอง
ต้องจับตาดูการประชุม ครม.วันที่ 13 ก.ย.ว่าในการแบ่งงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี นายกฯเศรษฐาจะตัดสินใจอย่างไร จะแบ่งงานอะไรให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลบ้าง เพราะนอกจากกระทรวงแล้วยังมีคณะกรรมการเศรษฐกิจชุดสำคัญที่ปกตินายกฯต้องเป็นประธานเองอีกหลายคณะ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น
จึงเป็นไปได้ว่าต้องให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งดูแลหน่วยงานเศรษฐกิจได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงบประมาณ ซึ่งดูจากรายชื่อรองนายกฯแล้วก็คงเป็นดร.ปานปรีย์ที่จะมากำกับดูแลหน่วยงานเหล่านี้
นอกจากความท้าทายในการจัดการมอบหมายงานที่จะให้นายกฯและรมว.คลังทำงานได้อย่างราบรื่นในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ยังมีอีกหลายความท้าทายที่นายกรัฐมนตรีต้องเตรียมตัวเผชิญ หากดูในคำแถลงนโยบายที่นายกฯจะแถลงต่อรัฐสภาฯก็พอจะเห็นภาพเศรษฐกิจไทยในวันนี้ เช่น
- เศรษฐกิจของประเทศไทยกว่า 30.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ในภาคอุตสาหกรรม และมีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า
- ภาคการส่งออกมีมูลค่าติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส และยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายในที่เน้นการรับจ้างผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นต้นถึงขั้นกลางที่ล้าสมัย ซึ่งกำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า และอ่อนไหวต่อการมาถึงของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Technology Disruption) รวมถึงปัจจัยภายนอกที่เกิดจากสภาวะการแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก
- การเปลี่ยนแปลงของเทคนโลยีแบบก้าวกระโดดได้สร้างความท้าทายให้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
- เศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
- ยุคสมัยของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กำลังสิ้นสุดลงและได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว ซึ่งจะเป็นความท้าทายใหม่ของการเปิดเสรีทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนที่ประเทศไทยได้เคยพึ่งพาปัจจัยเหล่านี้มาในอดีต
- ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศของชาติมหาอำนาจจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เป็นโจทย์ท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องกำหนดบทบาทและวางตัวอย่างเหมาะสม ในเวทีโลก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ส่งเสริมสันติภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย
- ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของ GDP ถือเป็นความเปราะบางของภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ
- ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่า61% ซึ่งมีแนวโน้มที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดทางด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต
- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังอยู่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพในการสร้างรายได้ยังต่ำกว่าการใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น
- ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน
- ภาคการเกษตร ประชากรจำนวนไม่น้อยของประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคนี้ที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงชีพ แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพีย7% ต่อ GDP ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการทำการเกษตรที่ยังคงพึ่งพาวัฏจักรธรรมชาติและมีประสิทธิภาพของผลผลิตต่ำ แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละกว่า 3 แสนบาท
ทั้งหมดถือว่าเป็นโจทย์ยากและความท้าทายของ “ครม.เศรษฐา 1” ที่จะแก้ไข บางอย่างเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม