WIPO เตรียมเคาะข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญหา หวังปิดดีลภายในปี 67
ทูต WTO ของไทย เผย WIPO ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทาปัญญาฯ เร่งรัดเจรจาจัดทำความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเตรียมการสำหรับการประชุมทางการทูตปีหน้า หวังปิดดีลเจรจาให้ได้ในปี 67 หลังยืดเยื้อยาวนาน
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WTO-WIPO) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4-8 ก.ย.นี้ WIPO จัดประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม (IGC) สมัยพิเศษ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมทางการทูตในเรื่องนี้ ที่กำหนดจัดประชุมปี 67 ที่อินเดีย ตามมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ WIPO และต้องสรุปผลความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมให้ได้ภายในปี 67 หลังจากสมาชิกWIPO เริ่มหารือจัดทำความตกลงมาตั้งแต่ปี 43 โดยได้จัดตั้ง IGC รับผิดชอบเจรจา และเริ่มเจรจาครั้งแรกในปี 53 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้
สำหรับการประชุมสมัยพิเศษครั้งนี้ จะพิจารณาเนื้อหาหลักของร่างความตกลง ที่ยังดำเนินการค้างอยู่ หากสมาชิกสรุปผลการจัดทำความตกลงได้ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่กว้างขวางมากขึ้น และเอื้อต่อการสร้างความเสมอภาค อีกทั้งยังช่วยรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ และสิทธิ์ของผู้ให้และผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยที่มีมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ การบังคับให้เปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตรจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมภายใต้ระบบสิทธิบัตร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันผลประโยชน์ การป้องกันการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ผิดพลาด การยักยอกใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรพันธุกรรมมากมาย เช่น พันธุ์พืชต่างๆ สมุนไพรไทยอยู่มาก แต่ปัจจุบัน หลายประเทศมีการลักลอบนำสิ่งเหล่านี้ของไทยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือนำไปจดสิทธิบัตรโดยไม่ขออนุญาต และไม่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของที่เป็นคนไทย แต่การเจรจาจัดทำความตกลงดังกล่าว จะช่วยให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของด้วย
สำหรับร่างล่าสุดของความตกลง มีสาระสำคัญ เช่น 1. วัตถุประสงค์ขอวความตกลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และคุณภาพของระบบสิทธิบัตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ป้องกันการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ผิดพลาด 2.บังคับให้เปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตร โดยกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรต้องเปิดเผยประเทศต้นทาง ของทรัพยากรพันธุกรรม และ/หรือชุมชนท้องถิ่น ที่ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม
3.บทกำหนดโทษและการชดเชย หากไม่เปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตร จะกำหนดมาตรการลงโทษตามกฎหมายของแต่ละประเทศ และอาจให้เพิกถอนสิทธิบัตรหรือไม่สามารถบังคับใช้สิทธิบัตรได้ 4.การจัดทำระบบข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยสำนักงานสิทธิบัตรประเทศต่างๆ เพื่อค้นหาและตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร เป็นต้น