รื้อโครงสร้างพลังงานโจทย์ยาก 'รัฐบาลเศรษฐา' ชี้ลดราคาทำได้แค่ระยะสั้น
“เศรษฐา” แถลงนโยบายรัฐบาล ลดค่าพลังงานทันที “น้ำมัน-ไฟฟ้า-ก๊าซ” พีระพันธุ์ เล็งแก้กฎหมายเอื้อนำเข้าเสรีสำเร็จรูปแบบน้ำมัน “พรายพล” ชี้ต้องแก้พลังงานที่โครงสร้าง ยืดนี้ กฟผ.แสนล้าน ลดแค่ชั่วคราว “ผู้ค้าน้ำมัน”ยันนำเข้าเสรีอยู่แล้ว ระบุค่าการตลาดเหมาะสมอทีี่ 2 บาท
รัฐบาลมีกำหนดแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย.2566 โดยนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงจะระบุถึงนโยบายเร่งด่วนในการลดค่าพลังงานครอบคลุมทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่
สำหรับแนวทางที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะลดราคาพลังงานได้พิจารณาองค์ประกอบ ดังนี้ 1.ภาษี 2.ค่าการตลาด 3.ภาระการเงินและเงินกู้ รวมถึงบางองค์ประกอบที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยรัฐบาลจะพิจารณาโครงสร้างและองค์ประกอบของราคาพลังงานที่ลดลงได้
รวมทั้งมองราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น น้ำมันเขียวสำหรับกลุ่มชาวประมง ซึ่งจะดำเนินการเช่นนี้กับเกษตรกรกลุ่มอื่นด้วย
นอกจากนี้ จะเปิดเสรีการหาน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมีค่าการกลั่นหรือค่าใช้จ่ายอื่น โดยถ้าใครนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ก็ควรเปิดให้ทำได้ โดยภาครัฐจะกำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมี 4 ฉบับ จะมีการปรับแก้หากเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป
แนะลดอัตราจัดเก็บภาษีน้ำมัน
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งท้าทายด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1.ราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาใช้กลไกอุดหนุนผ่านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเคยติดลบทะลุสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท และได้กู้เงินมาแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 5.7 หมื่นล้านบาท และอยู่ขั้นตอนการกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้หนี้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สำหรับการเข้ามาบริหารราคาน้ำมันจะต้องดูทั้งระบบ ประกอบด้วย
1.การแก้ไขราคาระยะสั้น คือ ภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงการคลังเก็บลิตรละ 5 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ดังนั้นรัฐบาลใหม่อาจต้องดูว่าควรเก็บอัตราสูงแบบนี้ตลอดไปหรือไม่ และมีโอกาสที่จะยืดหยุ่นอย่างไร หรือจะลดลงไปเลย โดยการอุดหนุนอาจใช้ทำเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับความเดือนร้อนเป็นกรณีพิเศษ
2.การแก้ไขโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยการแก้โครงสร้างราคาน้ำมันตั้งแต่การกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่จะทำให้ค่าการกลั่นไม่แพงเช่นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้โรงกลั่นได้กำไรสูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยอาจมีวิธีแก้ไขแม้จะอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ แต่อาจกำหนดว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงมากอาจไม่ต้องอิง 100% เพราะเรามีราคาขั้นต่ำ
“การแก้ปัญหากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องทำบทบาทกองทุนให้ตรงวัตถุประสงค์เดิมตามกฎหมายแรกเริ่มที่จัดตั้ง ซึ่งทุกวันนี้บิดเบี้ยวไปเยอะ แต่เข้าใจได้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันแพงทำให้ต้องนำเงินมาอุดหนุน จึงต้องลงรายละเอียดว่าควรเป็นหนี้และสะสมได้แค่ไหน ส่วนการขยายเพดานการกู้เงิน หากดูวินัยการเงินการคลังภาครัฐก็ไม่เหมาะสม เพราะประเทศไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น”
3.ส่งเสริมราคาเชื้อเพลิงไบโอเอทานอล (Bioethanol) หากมองระยะยาวพบว่าอัตราการใช้ยานยนต์สันดาปมีแนวโน้มลดลง โดยประชาชนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มากขึ้น ซึ่งบทบาทเชื้อเพลิงไบโอเอทานอลต้องพิจารณาว่าจะส่งเสริมอย่างไรให้ราคาสูงเช่นปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลต้องการช่วยเกษตรกรแต่ไม่ควรให้เป็นภาระผู้ใช้น้ำมันในราคาแพงมากเมื่อเทียบกับเนื้อน้ำมัน
ยืดหนี้ กฟผ.แก้ไฟแพงชั่วคราว
สำหรับการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่มีข้อเสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) โดยมีข้อเสนอให้ยืดระเวลาการชำระหนี้คืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะต้องมีการชำระหนี้คืนให้ กฟผ.ในระยะเวลา 20 เดือน
ทั้งนี้ หากรัฐบาลเลือกใช้วิธีการยืดการชำระหนี้ให้ กฟผ.ออกไปเพื่อลดค่าเอฟที ถือเป็นมาตรการที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องมาดูว่าการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าอย่างถาวรจะต้องทำอย่างไร
เจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มปริมาณก๊าซฯ
ส่วนการแก้ปัญหาแหล่งพลังงานใหม่ระยะยาว คือ เดินหน้าในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนับวันทรัพยากรจะต้องลดลงต่อเนื่อง โดยถ้ารัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการสำเร็จจะถือเป็นการโชว์ฟอร์มที่ดี นำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูงในปัจจุบัน
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องมองให้กว้างไปกว่านั้น เพราะโรงไฟฟ้ามีการลงทุนสูง และมีอายุสัญญากว่า 20 ปี จึงจะต้องดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งยังไม่เหมาะสมจากการกำหนดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีสัดส่วนสูงกว่า 50% ในระยะเวลา 20-30 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ปี 2065 ดังนั้น ตามแผนจะต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่าแผนเดิม
หนุนระบบ Net Metering
นอกจากนี้ การผลักดันระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟในเดือนถัดไปที่เรียกว่าระบบ หรือ Net Metering ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะส่งเสริม โดยรัฐบาลต้องเข้ามาศึกษาอย่างรอบด้าน เพราะการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้านหรือโรงงาน มีโอกาสที่ไฟเหลือใช้ในช่วงกลางวันมาหักลบ เพราะคนไม่ค่อยอยู่บ้านช่วงกลางวัน เมื่อไฟเหลือก็ต้องใช้ประโยชน์ โดยขายเข้าสมาร์ทกริด และหลายประเทศรับซื้อในราคาดี เพราะจะสนับสนุนพลังงานสะอาด ส่งเสริมให้คนติดตั้งบนหลังคามากขึ้น
“การแก้ปัญหาหลักด้านพลังงาน คือ ราคา ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันและค่าไฟ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือรัฐบาลใหม่จะใช้กลไกอะไรเข้ามาช่วย และควรเข้ามาสนับสนุนชี้นำให้เกิดการพัฒนาและเกิดการใช้งานจริง ถือเป็นการนำร่องส่งเสริมสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความยั่งยืน”
เสนอ 2 แนวทาง ลดค่าไฟฟ้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำหนดค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.2566) อยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย มาจากค่าไฟฐานราว 3.70 บาทต่อหน่วย และค่าไฟอัตโนมัติ (เอฟที) 66.89 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากคิดเฉพาะต้นทุนค่าไฟจะอยู่ที่ 4.07 บาทต่อหน่วย โดย 38 สตางค์ จะเป็นการใช้หนี้ให้ กฟผ.ที่รับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ แนวทางการลดค่าไฟระยะสั้นที่ทำได้ 2 แนวทาง คือ 1.การยืดเวลาการชำระหนี้ให้ กฟผ.ออกไป 2.รัฐบาลจัดงบประมาณอุดหนุนค่าไฟฟ้า โดยการทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 1 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา กฟผ.ยืดเวลาการรับชำระหนี้จากเดิมชำระคืน 6 งวดเอฟที เป็น 7 งวดเอฟทีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ยังคงแบกภาระค่าเอฟทีราว 1.3 แสนล้านบาท ถ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ได้คืนปกติจะเหลือราว 1.1 แสนล้านบาท
ชี้ตลาดน้ำมันไทยเสรีอยู่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญวงการน้ำมัน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดเสรีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งส่วนนี้เห็นว่าธุรกิจน้ำมันในไทยปัจจุบันเป็นระบบเสรีอยู่แล้ว โดยผู้ค้าตามมาตรา 7 นำเข้ามาจำหน่ายได้ตามปกติ แต่อยู่บนเงื่อนไขมาตรฐานน้ำมันตามกฎหมายไทย โดยกฎระเบียบกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานยูโร 4 จะปรับเป็นยูโร 5 ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ดังนั้น มาตรฐานที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาแพงขึ้นด้วย เพราะต้นทุนการกลั่นจะสูงขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่าราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับต้นทุนที่นำเข้า
“สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะต้องดูแผนโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ และรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัดสินใจ”
ชี้ค่าการตลาดเหมาะสมอยู่ที่2บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นทุนราคาน้ำมันขายปลีกของไทย แบ่งเป็น เนื้อน้ำมันสัดส่วน 40-60%, ภาษีน้ำมัน 30-40% กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 5-20% และค่าการตลาดน้ำมัน 10-18% ซึ่งค่าการตลาดน้ำมันของไทยมีการสำรวจต้นทุนทุก 5 ปี และพบว่าอัตราเหมาะสมเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร เนื่องจากมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาตลอด อาทิ จากทั้งค่าเช่าที่ดิน, ค่าจ้างเด็กปั๊ม,ค่าน้ำ, ค่าไฟ และคาดกันว่าค่าการตลาดภายหลังประเทศไทยใช้มาตรฐานน้ำมันใหม่ยูโร 5 จะเพิ่มขึ้นในปี 2567
สำหรับค่าการตลาดในปัจจุบันของน้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 2.2746 บาท ส่วนกลุ่มเบนซิน เช่น แก๊ซโซฮอล์ 91 ลิตรละ 3.1715 บาท และแก๊ซโซฮอล์ 95 E20 ลิตรละ 3.4168 บาท
“การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีจริง ๆ ก็สามารถทำได้ แต่น้ำมันต้องมีคุณภาพตามที่ ธพ. กำหนด ก่อนนำมาจำหน่าย ซึ่งผู้ค้าน้ำมันในแต่ละสถานีบริการน้ำมันก็จะต้องนำน้ำมันมาผสมตามสูตรของตัวเองอีก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องหารือ”
แนวโน้มราคาพลังงานสูงขึ้น
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ราคาน้ำมันครึ่งปีหลังน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบนซินเฉลี่ย 69-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดีเซล 91-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยทิศทางในไตรมาส 4 มีสัญญาณในการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศตะวันตก และยังมีปัจจัยจากซาอุดิอาระเบียขยายเวลาการลดกำลังการผลิตที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ คาดว่าราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) เอทานอล ไตรมาส 4 จะสูงขึ้นจากปัจจัยหลัก คือ แหล่งน้ำมันดิบทานตะวันที่ลดลงถึง 30% และแหล่งก๊าซเอราวัณ(G1/61) ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ กกพ.วางเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในสิ้นปี คงจะอยู่ที่เพียง 400 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ภายในเดือน เม.ย.2567 จะเป็น 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน
ฤดูหนาวดันภาระกองทุนสูงขึ้น
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 3 ก.ย. 2566 ติดลบที่ 57,132 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 12,390 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,742 ล้านบาท ซึ่งกรอบวงเงินการเป็นหนี้บัญชี LPG จะต้องไม่เกิน 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ สามารถเก็บเงินเข้าบัญชี LPG ที่ วันละ 9.1 แสนบาท ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาว ราคา LPG ก็จะสูงขึ้นตามการใช้งาน และอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ในระยะต่อไป
“ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ รักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทก๊าซปิโตรเลียมเหลว มาตลอด คงราคาไว้อีก 1 เดือน อยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึงวันที่ 30 ก.ย.2566 ซึ่งรัฐบาลยังช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มุ่งเป้าเฉพาะกลุ่ม ส่วนตัวมองว่าราคาช่วยเหลือระดับนี้เหมาะสม เพราะปลายปีในฤดูหนาวราคาจะขยับขึ้น”