‘เศรษฐา’ แถลงนโยบายยกแรก ‘เงินดิจิทัล’ โจทย์ใหญ่รัฐบาลเพื่อไทย
“เศรษฐา” แถลงนโยบายรัฐบาล ย้ำ 4 ปี วางรากฐานโครงสร้างใหม่ ดันจีดีพีโตปีละ 5% ยันเดินหน้าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กระตุกเศรษฐกิจ “คลัง” ยืนยันไม่กู้เพิ่ม “ก้าวไกล” ตั้งคำถามที่มางบ 5.6 แสนล้าน ชี้ปัญหาผู้อยู่นอกเขตทะเบียนบ้าน “ประชาธิปัตย์” ชี้งบรัฐบาลไม่พอไปตายเอาดาบหน้า
การประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย.2566 โดยการแถลงเริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 เวลา 9.40 น.
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามเอกสารคำแถลงนโยบายที่แจกให้สมาชิกรัฐสภา โดยสาระสำคัญระบุว่าไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งภาคการส่งออกหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส และยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้เศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมโลกที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ของการเปิดเสรีการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนที่ไทยเคยพึ่งพาในอดีต
รวมทั้งเศรษฐกิจไทยเผชิญหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี ถือเป็นความเปราะบางของภาคประชาชน
ตลอดจนระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 61% และมีแนวโน้มสูงจนอาจเป็นข้อจำกัดทางการคลังและการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังต่ำกว่าศักยภาพ
สะท้อนศักยภาพการสร้างรายได้ ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น มีผู้มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล 14 ล้านคน
ดังนั้นสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ประเทศเปรียบเหมือนคนป่วย จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกระตุกเศรษฐกิจให้ตื่นอีกครั้ง
รวมทั้งนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอย การขยายการลงทุน การผลิตที่มากขึ้น การจ้างงาน การหมุนเวียนในเศรษฐกิจหลายรอบและรัฐบาลได้คืนมาในรูปภาษี
รวมทั้งรัฐบาลกำหนดนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน คือ
1.การแก้ปัญหาหนี้ ภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยต้องไม่ขัดวินัยการเงินและไม่เกิดภัยทางจริยธรรม
2.ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้าค่าน้ำมันและลดค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานและจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่ม
3.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซาและจัดทำ Fast Track VISA
4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น
ทั้งนี้รัฐบาลมองอนาคต 4 ปี ข้างหน้าจะเป็นปีที่รัฐบาลจะวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ
รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการคลัง โดยพิจารณาใช้จ่ายจากเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามมามีส่วนร่วมในการลงทุน
หลังจากนั้นประธานรัฐสภาได้ให้ สส.ฝ่ายค้าน , สส.ฝ่ายรัฐบาล และ สว.อภิปราย ซึ่งมีการอธิปรายถึงหลายนโยบายโดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล และนายเศรษฐา ได้ชี้แจงต่อรัฐสภาเป็นครั้งแรกในเวลา 17.35 น.
นายเศรษฐา ชี้แจงว่า สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายและตั้งคำถามในหลายประเด็น เช่น แหล่งที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท
“มีบางคนบอกว่า ยกเลิกการใช้รัศมี 4 กิโลเมตร แต่ผมมองว่าเศรฐกิจภูมิภาคต้องการกระตุ้น หากมีถิ่นฐานจังหวัดใด ควรกลับไปใช้ที่นั่น" นายเศรษฐา ชี้แจง
รวมทั้งมีเวลาใช้ 6 เดือน หากกลับบ้านเพื่อให้สถาบันครอบครัวแข็งแรง ถือเป็นเรื่องดี ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้จะคงไว้ แต่บางจังหวัดหรือเขตจะขยายรัศมีหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง
“เศรษฐา”ดันเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5%
สำหรับการพักหนี้ของเกษตรกร ยอมรับว่าโดย 9 ปีที่ผ่านมา พบการพักหนี้ 13 ครั้ง และไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ดังนั้นรัฐบาลจึงมีมาตรการหลายอย่าง เช่น เพิ่มรายได้ให้เป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี รวมถึงใช้นวัตกรรมนำ ควบคู่กับมาตรการพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรฟื้นฟูตนเอง มีกำลังใจแก้ปัญหา การพักหนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
นายกฯชี้แจงด้วยว่าสำหรับการผลักดันการท่องเที่ยว คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ในระยะสั้นเพื่อนำเงินเข้าประเทศ โดยตั้งเป้าให้ภาคท่องเที่ยวสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาทต่อปี
ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำจะปรับโดยเร็วที่สุด ตั้งเป้าว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 5% ใน 4 ปี จะทำให้ค่าแรงขึ้นไปเป็นวันละ 600 บาท รวมถึงเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
“การลดค่าใช้จ่ายพลังงาน มั่นใจว่าทำให้ค่าพลังงานต่ำลงได้ และจะคงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นประโยชน์กับประชาชน" นายเศรษฐา ชี้แจง
รวมทั้งการมีอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินจัดสรรให้ประชาชนสร้างประโยชน์ทำกิน ขณะที่ ส.ป.ก. หรือที่ของหน่วยงานราชการ ต้องพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกินอย่างมีศักดิ์ศรี
นอกจากนี้รัฐบาลต้องดูแลให้เหมาะสมทุกมิติ ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และทำให้สมดุลกับระบบนิเวศน์ รวมถึงเร่งแ้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กพื้นที่ภาคเหนือที่ต้องเร่งทำโดยเร็ว
“คลัง”ยืนยันรัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่มมาทำดิจิทัลวอลเล็ต
นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ซึ่งในอนาคตคนไทยจะมีกระเป๋าเงิน 2 กระเป๋าทั้งกระเป๋าเงินสดแบบเดิม และกระเป๋าเงินแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นผู้นำในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นเทรนด์ที่เศรษฐกิจโลกไปในทิศทางนี้แล้วไทยจะต้องคว้าไว้ให้ได้
ส่วนที่มาของงบประมาณนั้น รัฐบาลยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศ โดยนโยบายนี้จะไม่กระทบหนี้สาธารณะประเทศและไม่กู้เงินเพิ่ม
“รัฐบาลจะไม่แตะทรัพย์สมบัติของชาติไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันสังคม ขอให้ทุกท่านได้มั่นใจ”
นอกจากนี้รัฐบาลขอเวลาดูรายละเอียดแหล่งเงินทั้งในประเด็นที่มาของเงิน กรอบการใช้เงิน รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และระยะเวลาที่จะนำงบประมาณมาใช้คืนให้หมด
ส่วนข้อเสนอแนะที่แย้งว่านโยบายนี้จะทำให้เกิดการเอื้อทุนใหญ่ และเกิดราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรมนั้น โดยหลักคิดแล้วนโยบายนี้รัฐบาลมองว่าประชาชนเมื่อได้เงินไปแล้วก็จะใช้เงินจำนวนนี้อย่างเป็นประโยชน์ เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะนำไปใช้
ทั้งนี้จะมีกลไกที่มีมาตรการสนับสนุนและจูงใจให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในชุมชน และการหมุนเวียนของเงินส่วนใหญ่จะเป็นการหมุนเวียนในชุมชน เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจชุมชนได้มากที่สุด
“โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไม่จำกัดสิทธิ์ว่าจะซื้ออะไรได้หรือไม่ จะเป็นทุนใหญ่หรือเล็กถือว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะเลือกใช้จ่าย"
แต่รัฐจะมีโครงการเข้าไปจูงใจให้ใช้เงินเป็นประโยชน์กับชุมชน เช่น การรวมกลุ่มของประชาชน เกษตรกรในต่างจังหวัด จะใช้เงินจำนวนนี้ไปต่อยอดอาชีพหรือจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชน รวมถึงจะต่อยอดความคิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การรวมกันซื้อปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนสูง
"ก้าวไกล"ตั้งคำถามงบประมาณ 5.6 แสนล้าน
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในเรื่องแหล่งรายได้และที่มางบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะออกแบบให้เป็นแบบใด รัฐบาลจำเป็นต้องมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวน
ทั้งนี้เพื่อรับประกันว่า 1 บาทในโลกจริง จะเท่า 1 บาทดิจิทัล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า แหล่งที่มาของเงินน่าเชื่อถือหรือไม่ หากทำไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของร้านค้า และอาจเกิดเป็นเงินเฟ้อในโลกดิจิทัลขึ้นได้
รวมทั้งการจะมีเงินสดกองเต็มจำนวน 5.6 แสนล้านบาท มี 2 ทางเลือก คือ
1.การใช้งบประมาณแผ่นดิน
2.เงินนอกงบประมาณ
สำหรับปัญหาของการใช้งบประมาณปี 2567 จะไม่พอแน่นอน เพราะงบประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท มีหลายค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตัดทอนได้ เช่น งบประมาณชำระหนี้ ดอกเบี้ย เงินคงคลัง เงินอุดหนุนท้องถิ่น สวัสดิการตามกฎหมาย เหลือใช้จ่ายได้จริงแค่ 4 แสนล้านบาท
รวมทั้งหากใช้ดุลเงินสดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะต้องลดรายจ่ายจาก 1.2 ล้านล้านให้เหลือครึ่งหนึ่ง คุมเงินนอกงบประมาณให้สมดุล ซึ่งเงินสดยังคงไม่พอและจะกู้ชดเชยขาดดุลล่วงหน้ามาใช้กับโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็จะเกิดดอกเบี้ยและมีค่าเสียโอกาส
ส่วนการใช้เงินนอกงบประมาณก็ใช้ไม่ได้ถ้าไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง หรือหากยืมเงินกองทุนหมุนเวียนมี 2 กองทุน คือ
- กองทุนประกันสังคม
- กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ
ทั้งนี้รัฐบาลไม่ควรเข้าไปแตะต้องทั้ง 2 กองทุน เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล
รวมทั้งสุดท้ายหากจะกู้ธนาคารรัฐที่ปัจจุบันมีกรอบอยู่ไม่เกิน 32% ของรายจ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งใกล้ถึงระดับดังกล่าวแล้วและหากจะกู้จริงต้องแก้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่จะไม่สง่างาม
"ก้าวไกล"แนะใช้เงินดิจิทัลหนุนธุรกิจ SMEs
นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ SMEs น้อยเกินไป โดยมีเพียงการอธิบายว่า SMEs กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แต่ในความเป็นจริง SMEs พบกับปัญหามานานก่อนวิกฤติโควิด-19
"กังวลว่าหากรัฐบาลมองวิกฤติเศรษฐกิจแต่ภาพกว้าง โดยคิดว่าเพียงการกระตุ้นและการแจกเงินครั้งเดียวจะฟื้นเศรษฐกิจได้อาจแก้ไม่ตรงจุด"
ทั้งนี้ SMEs คาดหวังแต้มต่อเพื่อช่วยแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไขโครงการเติมเงินดิจิทัลจากที่กำหนดให้ใช้เงินดิจิทัลได้ในรัศมี 4 กม. มาเป็นการกำหนดให้เงินดิจิทัลเฉพาะร้านค้ารายย่อย SMEs
อย่างน้อยรัฐบาลควรกำหนดแต้มต่อให้ร้านค้า SMEs เป็นโบนัส 20-30% สำหรับเงินดิจิทัล ดีกว่าที่จะใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อสุดท้ายไหลเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนใหญ่
"ก้าวไกล"ชี้ปัญหาผู้อยู่นอกเขตทะเบียนบ้าน
นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า หากนายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าจะทำนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ได้ ยังมี 5 ปัญหา ดังนี้
1.มีประชาชนจำนวนมากไม่ได้พักอาศัยในภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต 2.35 ล้านคน
2.การกำหนดรัศมี 4 กม.ในต่างจังหวัด จะเป็นข้อจำกัดของร้านค้าและท้ายที่สุดเงินดิจิทัลอาจจบที่ร้านสะดวกซื้อหรือห้างค้าส่งของธุรกิจขนาดใหญ่
3.การกำหนดเงื่อนไขให้ร้านค้าในระบบภาษีเท่านั้นที่ cash out แลกเงินในดิจิทัลวอลเล็ตออกมาได้ อาจทำให้ร้านค้าไม่อยากเข้าร่วมโครงการหรืออาจจะรับในราคาที่แพงขึ้น
4.แหล่งที่มางบประมาณ 560,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายการพัฒนาบล็อกเชน จะมีที่มาจากไหน
5.ความเสี่ยงของนโยบายที่ล้มเหลวจากปัญหาเชิงเทคนิคของบล็อกเชน
"ประชาธิปัตย์"ห่วงงบประมาณนโยบายเงินดิจิทัลไม่พอ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า มาตรฐานของนโยบายรัฐบาลชุดนี้สวนทางกับความสูงของนายกรัฐมนตรี โดยนโยบายที่หาเสียงกับนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาไม่ตรงปก จึงขอให้ความเห็นดังนี้
นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งไม่ปฏิเสธว่ารัฐบาลต้องทำตามที่หาเสียงแต่มีคำถาม 2 ข้อ
1.ทำอย่างไร
2.นำเงินมาจากไหน
ทั้งนี้ปัจจุบันสังคมสับสนถึงรูปแบบที่จะทำมาใช้ทั้งแอปเป๋าตังหรือบล็อกเชน
สำหรับก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณ ออกมาระบุถึงงบประมาณสำหรับนโยบายรัฐบาลชุดนี้มีประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ถามว่าเงินส่วนที่เหลือจะนำมาจากไหน ต่อให้เอางบประมาณ 6-7 ปีมาใช้ ก็ไม่พอ
นโยบายดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับนโยบายที่ไปตายเอาดาบหน้า และขอเตือนว่าอย่าให้นโยบายนี้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย